เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
สุพรรณบุรี, Thailand
ผู้หญิงอายุเยอะ น้ำหนักมาก รักแมว ชอบเที่ยวป่า ดูนก แต่ไม่ตกปลา เกิดที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี เป็นลูกคนแรกที่แม่ไปคลอดที่โรงพยาบาล โดยไม่ผ่านมือหมอตำแย เป็นคนสุพรรณฯ เลือดร้อย เรียนอนุบาลและป.1 ที่โรงเรียนอนุบาลเสริมศึกษา(ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว) ป.2-7 ที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ(ปัจจุบันคือโรงเรียนสุพรรณภูมิ ม.ศ.1-5 ที่โรงเรีงเรียนสงวนหญิง คบ.เอกเกษตรศาสตร์ จากวิทยาลัยครูพระนคร ศศบ. สารนิเทศาสตร์ จาก มสธ. กศม. การศึกษาผู้ใหญ่ จาก มศว. ปรด. จะจบหรือเปล่าไม่รู้ ที่ไหนยังไม่บอก เดี๋ยวจะทำสถาบันเสื่อมเสีย

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตลาดชุมชนริมแม่น้ำท่าจีน:ตลาดคอวัง













ตลาดคอวัง อยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นตลาดเอกชนที่นางซิ่วกี่ ม้าวิไล และนางหมาเล็ก แซ่ตั้ง ซึ่งเป็นพี่น้องกันเป็นเจ้าของ เป็นตลาดที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 120 ปี เดิมนางซิ่วกี่ มีอาชีพรับซื้อข้าว เห็นว่าบริเวณบ้านคอวัง มีทำเลดีเหมาะที่จะสร้างตลาด เนื่องจากที่ตั้งของบ้านคอวังเป็นจุดศูนย์กลางที่ชาวบ้านป่า คือ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่บ้านสวนแตง บ้านสระยายโสม และอู่ทอง นำสินค้าที่เป็นของป่า และถ่านหุงข้าว บรรทุกเกวียนมาตามทางเกวียนมาขาย รวมถึงมารับซื้อสินค้าที่ส่งมาทางเรือไปขาย ชาวทุ่ง แถบบ้านโพธิ์ศรี โพธิ์ตะควน ก็จะนำข้าวเปลือกมาขายเช่นเดียวกัน จึงสร้างเป็นห้องแถวไม้ให้เช่าเปิดเป็นร้านค้า
ลักษณะทางกายภาพของตลาดคอวัง เป็นห้องแถวไม้ปลูกเรียงติดต่อกันเป็นแถวยาว เป็นรูปตัวยู มีประมาณ 40 – 50 ห้อง มีตลาดสดอยู่ตรงกลาง ผู้ค้าในตลาดคอวังมีความสัมพันธ์กันในเชิงเครือญาติ กล่าวคือเจ้าของตลาดจะแบ่งให้ญาติๆเช่าห้องแถวค้าขาย ต่อมาผู้เช่าก็จะแบ่งแยกยกสิทธิให้ลูกหลานทำการค้าต่อไป
ตลาดคอวังในระยะเริ่มแรกเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีความเจริญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นท่าข้าวที่ชาวทุ่งจากวัดดาว บ้านโพธิ์ศรี โพธิ์ตะควน นำข้าวเปลือกมาขายที่โรงสี ที่ตั้งอยู่ที่ตลาดคอวัง ชาวบ้านป่าจะนำของป่าและถ่านหุงข้าวมาขายส่ง การดำเนินธุรกิจเช่นนี้ จึงทำให้เกิดอาชีพรับจ้างต่อเรือ อู่ต่อเรือขึ้นที่ตลาดคอวัง โดยต่อทั้งเรือลำเลียง เรือสำปั้น และเรือแปะ







ตลาดคอวังนับเป็นตลาดค้าเรือ และรับจ้างต่อเรือขนาดใหญ่ มีอู่ต่อเรือหลายแห่ง ซึ่งผู้ดำเนินกิจการการต่อเรือเป็นชาวจีนไหหลำที่อพยพเข้าค้าขายในประเทศไทย ไม้ที่นำมาต่อเรือนี้ส่วนหนึ่งล่องมาจากทางเหนือตามลำน้ำเจ้าพระยาเข้าไปกรุงเทพฯ มีพ่อค้ามุสลิมเป็นผู้จำหน่ายซุงที่ล่องมา จากนั้นชาวจีนไหหลำจะเดินทางไปซื้อซุงเพื่อนำมาต่อเรือ โดยชักลากขึ้นมาตามลำน้ำท่าจีน กับอีกส่วนหนึ่งชักลามาจากทางเหนือล่องมาตามลำน้ำท่าจีน ในอดีต บริเวณหน้าตลาดคอวังจะมีแพซุงขนาดใหญ่ผูกติดไว้เป็นจำนวนมาก
สินค้าอื่น ๆ ที่ขายในตลาดคอวังได้แก่ เครื่องอุปโภค บริโภค ที่ขายในร้านโชวห่วย มีทั้ง ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน อุปกรณ์ซ่อมแซมเรือ เช่น ชัน น้ำมันยาง ซึ่งรับสินค้ามาจากกรุงเทพ ฯ ทั้งที่เดินทางไปซื้อเอง โดยทางเรือ และโดยการเขียนใบสั่งซื้อฝากไปกับเรือ รวมถึงมีเรือค้าส่งนำสินค้ามาส่งถึงหน้าตลาด นอกจากนี้ จะมีร้านตัดเสื้อผ้า ร้านทำทองรูปพรรณ อีกด้วย
สำหรับตลาดสดนั้น ส่วนหนึ่ง ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ผลิตก็จะนำผลิตผลของตนเองมาวางขายในแผลตลาดสด
การค้าขายในตลาดคอวังค่อนข้างซบเซา ซึ่งเป็นมาประมาณ 30 กว่าปีแล้ว แต่การค้าที่ยังคงไว้อยู่ก็คือการค้าไม้ ยังมีโรงเลื่อยที่ เมื่อต้องการปลูกบ้านไม้ ช่างไม้ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ไปซื้อไม้ที่ตลาดคอวัง ส่วนร้านอุปโภคบริโภคนั้นก็ขายได้กับคนกลุ่มเล็ก ๆ ในแถบใกล้เคียงตลาด จากที่เคยมีร้านค้า 40 – 50 ห้อง เหลือเพียง 4-5 ห้องที่ดำเนินกิจการเท่านั้น







สินค้าที่เป็นจุดเด่นของตลาดคอวัง ได้แก่เรือ ประเภทต่าง ๆ ไม้กระดาน อุปกรณ์ซ่อมแซมเรือ และเป็ดพะโล้ของร้านใช้ฮวด ที่มีชื่อเสียงมาก เพราะมีรสชาติดี แต่ปัจจุบันก็ได้ล้มเลิกกิจการไปแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยความสวยงามและความสมบูรณ์ทางกายภาพของตลาดคอวัง จึงทำให้ตลาดคอวังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง
นอกจากสินค้าและความสวยงามของตลาดคอวังแล้ว ยังมีประเพณีสำคัญที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาของชาวคอวังเป็นระยะเวลายาวนาน คือ ประเพณีตักบาตรกลางน้ำ และงานงิ้วประจำปี
ประเพณีตักบาตรกลางน้ำนี้ ริเริ่มโดยนางซิ่วกี่ ม้าวิไล ที่เห็นว่าบ้านคอวังเป็นที่ราบลุ่มซึ่งเหมาะกับการประกอบอาชีพทำนา ชาวบ้านในแถบนี้ส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทำนา ในช่วงฤดูทำนา จะต้องออกไปทำนา เก็บเกี่ยวข้าว ไม่มีเวลาได้พบปะกัน เมื่อหมดฤดูทำนา จึงจัดให้มีประเพณีตักบาตรกลางน้ำขึ้น เพื่อให้มีโอกาสได้พบปะ ทำบุญ ร่วมกัน ผนวกกับความเชื่อที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่าในสมัยไทยรบกับพม่า มีชาวไทยกลุ่มหนึ่ง ย้ายพระพุทธรูปมาจากทางเหนือ เมื่อมาถึงหน้าบ้านคอวังแพแตกพระพุทธรูปจมลงในน้ำ มีความพยายามงมขึ้นมาหลายครั้ง โดยครั้งหนึ่งสามารถงมขึ้นมาได้แต่แพก็แตกทำให้จมลงไปอีก จึงมีการสร้างศาลเพียงตาขึ้นที่ริมตลิ่งใกล้บริเวณที่งมพระพุทธรูปได้ โดยมียายชั้น เป็นเจ้าพิธี แต่จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่สามารถงมพระพุทธรูปองค์นั้นขึ้นมาได้ ชาวบ้านเชื่อว่าหากงมพระพุทธรูปขึ้นมาได้ ก็จะทำให้บ้านคอวังกลับมาเจริญได้อีกครั้ง ชาวบ้านบางกลุ่มเชื่อว่ามีจระเข้เฝ้าพระพุทธรูปนี้อยู่ เพราะที่หน้าตลาดคอวังจะมีวังน้ำวน ที่เป็นมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งเล่าต่อ ๆ กันมาว่า เกิดจากจระเข้ขุดโพรงจากคุ้งตาเพชรที่ตลาดบางปลาม้ามาจนถึงคอวัง
จระเข้ตัวนี้เดิมเป็นคนชื่อตาเพชร เป็นคนที่มีคาถาอาคม สามารถแปลงร่างเป็นจระเข้ได้ วันหนึ่งตาเพชรและภรรยากลับจากทำนาที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน จะข้ามกลับไปบ้านที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนจึงแปลงร่างเป็นจระเข้ เพื่อให้ภรรยาใช้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำ โดยหันหัวไปทางฝั่งตะวันออก ก่อนแปลงร่างเป็นจระเข้นั้น ตาเพชรได้เสกน้ำมนต์ให้กับภรรยาไว้ เพื่อใช้รดไปที่ร่างจระเข้ให้กลับกลายมาเป็นคนเหมือนเดิม แต่เมื่อภรรยาของตาเพชรข้ามฝั่งไปแล้ว จระเข้ตาเพชรได้อ้าปากเพื่อจะรอรับน้ำมนต์ บ้างก็เล่าว่าจระเข้ตาเพชรต้องการหยอกล้อภรรยาจึงอ้าปาก ฝ่ายภรรยาตกใจกลัวจึงทำขันน้ำมนต์หก ทำให้จระเข้ตาเพชรไม่สามารถกลับมาเป็นคนได้ จระเข้ตาเพชรร้องไห้อยู่ 7 วัน 7 คืน แต่ไม่มีใครสามารถช่วยได้ จึงดำน้ำลงไปขุดโพรงยาวลงมาทางใต้ถึงบ้านคอวัง บริเวณที่เป็นวังน้ำวนนี้ เล่ากันว่าเคยมีคนโยนลูกมะพร้าวลงไป ลูกมะพร้าวจมหาย แล้วไปโผล่ขึ้นที่คุ้งตาเพชร ที่อยู่ด้านทิศเหนือของตลาดคอวัง
ประเพณีตักบาตรกลางน้ำจึงนอกจากเปิดโอกาสให้ผู้คนได้พบปะกันแล้ว ยังถือเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ ตามความเชื่อที่เล่าต่อๆกันมา โดยประเพณีตักบาตรกลางน้ำจะมีในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ผู้คนทั้งชาวทุ่ง ชาวน้ำ จะมาร่วมกันตักบาตร ที่พระสงฆ์จากวัดในละแวกใกล้เคียง พายเรือมารับบิณฑบาต
ใกล้กับตลาดคอวัง มีอุทยานมัจฉา วัดป่าพฤกษ์ โดยหน้าวัดป่าพฤกษ์มีปลาธรรมชาติที่ทางวัดสงวนพันธุ์ปลาไว้ ไม่ให้บุคคลใดมาจับปลา เช่น ปลาสวย ปลาตะเพียน ทั้งนี้ทางวัดได้ให้อาหารเพื่อทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนได้มาพักผ่อนหย่อนใจ