เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
สุพรรณบุรี, Thailand
ผู้หญิงอายุเยอะ น้ำหนักมาก รักแมว ชอบเที่ยวป่า ดูนก แต่ไม่ตกปลา เกิดที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี เป็นลูกคนแรกที่แม่ไปคลอดที่โรงพยาบาล โดยไม่ผ่านมือหมอตำแย เป็นคนสุพรรณฯ เลือดร้อย เรียนอนุบาลและป.1 ที่โรงเรียนอนุบาลเสริมศึกษา(ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว) ป.2-7 ที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ(ปัจจุบันคือโรงเรียนสุพรรณภูมิ ม.ศ.1-5 ที่โรงเรีงเรียนสงวนหญิง คบ.เอกเกษตรศาสตร์ จากวิทยาลัยครูพระนคร ศศบ. สารนิเทศาสตร์ จาก มสธ. กศม. การศึกษาผู้ใหญ่ จาก มศว. ปรด. จะจบหรือเปล่าไม่รู้ ที่ไหนยังไม่บอก เดี๋ยวจะทำสถาบันเสื่อมเสีย

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

ตลาดเก่าชุมชนริมแม่น้ำท่าจีน: บริบท

บริบทของตลาดชุมชนริมแม่น้ำท่าจีนในจังหวัดสุพรรณบุรี

แม่น้ำท่าจีน เป็นแม่น้ำที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปากคลองมะขามเฒ่า ในอำเภอ วัดสิงห์ แม่น้ำท่าจีนนี้เรียกชื่อแตกต่างกันไปตามพื้นถิ่นที่ไหลผ่าน ดังนี้ ช่วงที่แยกจากปากคลองมะขามเฒ่า ชาวชัยนาทเรียกแม่น้ำมะขามเฒ่า ไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีเรียกแม่น้ำสุพรรณ ผ่านนครปฐมเรียกว่าแม่น้ำนครชัยศรี จนกระทั่งไหลสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสาครจึงเรียกว่าแม่น้ำท่าจีน จังหวัดที่แม่น้ำท่าจีนไหลผ่านนั้น จังหวัดสุพรรณบุรี ถือเป็นจังหวัดที่แม่น้ำท่าจีนไหลผ่านเป็นระยะทางยาวที่สุด คือประมาณ 300 กิโลเมตร โดยไหลผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอสามชุก อำเภอศรีประจันต์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง (วิศาล สมคิด . 2531 : 2)
การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในสมัยก่อน จะยึดแม่น้ำเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะต้องใช้น้ำอุปโภคและบริโภค ตลอดทั้งเป็นเส้นทางคมนาคม ไปมาหาสู่ และซื้อขายกัน ถิ่นฐานบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมสองฟากฝั่งขนานไปกับความยาวของแม่น้ำโดยมากจะมีชื่อคำแรกว่า “บาง” หรือ “ท่า” ทำมาหากินด้านการเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนา โดยจะมีทุ่งสำหรับการทำนาซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไป เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม จึงมีน้ำเพียงพอสำหรับการทำนา การไปมาหาสู่ ติดต่อกันเป็นไปได้สะดวก มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะมีเรือล่องผ่านหน้าบ้านทุกวัน ทำให้เครือข่ายของชุมชนกว้างขวาง ลักษณะของชุมชนจึงเป็นชุมชนเปิด และเป็นเครือข่ายมากกว่าเป็นเอกเทศ (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา . 2541 : 196 - 197) ชาวสุพรรณบุรีก็เช่นเดียวกับชุมชนแถบที่ลุ่มภาคกลางอื่น ๆ ที่มีความผูกพันกับสายน้ำ โดยในสมัยโบราณ เมืองอู่ทองที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจระเข้สามพันได้อาศัยแม่น้ำสายนี้ในการดำรงชีวิต ต่อมาเกิดช่องทางของภูเขา ทำให้สายน้ำไหลไปทางอื่น ทำให้แม่น้ำจระเข้สามพันแคบ และตื้นเขิน เกิดโรคระบาดผู้คนจึงละทิ้งเมืองมาทางที่ลุ่มตะวันออกซึ่งมีแม่น้ำสุพรรณไหลผ่านเกิดเป็นชุมชนที่สืบเชื้อสายผ่านยุคต่าง ๆ อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำในการดำรงชีวิต(ดอกอ้อ แตงอ่อน และ อนุศักดิ์ คงมาลัย . 2545 : 33)
การตั้งชุมชนริมแม่น้ำท่าจีนนั้นทำให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนจนเกิดเป็นตลาดค้าขายริมแม่น้ำหลายแห่ง อีกทั้งเป็นการสะดวกต่อการคมนาคมอีกด้วย ตลาดค้าขายที่สำคัญคือตลาดในตัวเมืองซึ่งเป็นศูนย์การปกครอง และมีประชากรตั้งชุมชนอยู่เป็นจำนวนมาก ตลาดตามตัวเมืองจะเป็นตลาดขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าตลาดชุมชน เช่น ที่ตลาดเมืองสุพรรณบุรี มีการตั้งร้านขายของบริเวณทางเดินสองข้างหลายสิบร้าน และบริเวณแม่น้ำยังมีแพจอดขายสินค้าต่าง ๆ ถึง 50 แพ (หจช.,ร.5 ม.2. 14/104 อ้างในมณฑล คงแถวทอง . 2527 : 125) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเสด็จประพาสจังหวัดสุพรรณบุรีถึง 2 ครั้ง ในพ.ศ. 2447 และ พ.ศ. 2451 โดยในการเสด็จประพาสในครั้งที่ 2 ที่ทรงเสด็จประพาสมณฑลนครสวรรค์และเมืองสุพรรณบุรี ได้ทรงพระราชนิพนธ์บรรยายการเดินทางเข้าทางลำน้ำมะขามเฒ่า ผ่านลงมาทางอำเภอนางบวช จนกระทั่ง ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระองค์ทรงบรรยายสภาพบ้านเมืองและสถานที่สำคัญ ๆ ในช่วงของเมืองสุพรรณบุรี ว่า เดิมบาง ซึ่งในสมัยของพระองค์ ขึ้นกับเมืองชัยนาท เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ บ้านเรือน ใหม่ ๆ และวัดใหม่เรียงรายเป็นระยะตลอดริมฝั่งน้ำ อำเภอเดิมบาง มีวัดเก่าที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จในปี พ.ศ. 2450 มีหมู่บ้านเล็ก ๆ เช่น บ้านท่าช้าง ซึ่งปัจจุบันคือตลาดท่าช้าง และบ้านสามชุก คืออำเภอสามชุกในปัจจุบัน เป็นหมู่บ้านริมน้ำ ผู้คนยังเบาบาง พระองค์ทรงบรรยายถึงอำเภอศรีประจันต์ว่า เมื่อล่องตามแม่น้ำสุพรรณหรือแม่น้ำท่าจีน จะเข้าเขตเมืองสุพรรณก็เริ่มเห็นบ้านเรือนผู้คนหนาแน่นขึ้น แสดงว่าผู้คนในอำเภอนี้ยังเบาบาง แต่ก็พบชุมชนและวัดตั้งอยู่ตลอดริมน้ำ เมื่อถึงอำเภอเมือง มีบ้านเรือนหนาแน่นขึ้น และในตำบลต่าง ๆ มักมียุ้งข้าวตั้งรวมกัน ประมาณ 4 – 7 หลังเป็นกลุ่มตลอดลำน้ำ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และทรงเล่าว่า “เขาว่าที่เมืองนี้ไม่เหมือนกรุงเก่า ถ้าไม่เห็นข้าวใหม่ในนาแล้ว ไม่เปิดยุ้งจำหน่าย” ส่วนอำเภอบางปลาม้าและอำเภอสองพี่น้อง ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนและชาวลาวปะปนกันอยู่ (มหาวิทยาลัยศิลปากร . 2546 : 3-16 – 3-17)
การค้าขายของตลาดริมน้ำนี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะการค้าบนตลาดบกที่อยู่ติดริมน้ำเท่านั้น
แต่ได้ขยายตัวทางการค้าไปตามลำแม่น้ำด้วย กล่าวคือ มีเรือพ่อค้าล่องไปตามลำน้ำเพื่อซื้อสินค้าจากราษฎร(มณฑล คงแถวทอง . 2527 : 127) ย่านการค้าริมแม่น้ำท่าจีนในช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ถ้าใช้ตัวจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจุดเริ่มต้นไปทางทิศเหนือ จะมีตลาดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ท่าจีนอยู่ถึง 8 ตลาด ได้แก่ตลาดโพธิ์พระยา ตลาดศรีประจันต์ อยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตรงข้ามกับตลาดศรีประจันต์ คือ ตลาดบ้านกร่าง เมื่อขึ้นเหนือไปตามแม่น้ำท่าจีนอีกก็จะเป็นที่ตั้งของตลาดบางขวาก ตลาดสามชุก ที่อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำท่าจีน ถัดขึ้นไปเป็นตลาดบ้านทึง ตลาดนางบวช และตลาดท่าช้าง แต่หากล่องลงมาทางด้านทิศใต้จากตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ก็จะพบตลาดเก้าห้อง ตลาดบางปลาม้า ตลาดคอวัง ตลาดบางแม่หม้าย ตลาดบางสะแก ตลาดบ้านกุ่ม ตลาดบางสาม และตลาดบางซอ ซึ่งแต่ละตลาดจะทำหน้าที่เป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าด้านการเกษตร ซื้อขายเครื่องอุปโภค บริโภค

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากครับทีเอาข้อมูลมาเผยแพร่ ได้ความรู้มากเลยครับ
    ผมก็กำลังจะเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ เกี่ยวกับตลาดพื้นถิ่นในภาคกลาง
    ในด้านงานสถาปัตยกรรม และผลกระทบที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว
    แต่ไม่ค่อยจะคืบหน้าแต่อย่างใด ยังไงก็ขอบคุณมากนะครับ

    ตอบลบ
  2. ขอให้ประสบความสำเร็จในเร็ววันนะคะ

    ตอบลบ