เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
สุพรรณบุรี, Thailand
ผู้หญิงอายุเยอะ น้ำหนักมาก รักแมว ชอบเที่ยวป่า ดูนก แต่ไม่ตกปลา เกิดที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี เป็นลูกคนแรกที่แม่ไปคลอดที่โรงพยาบาล โดยไม่ผ่านมือหมอตำแย เป็นคนสุพรรณฯ เลือดร้อย เรียนอนุบาลและป.1 ที่โรงเรียนอนุบาลเสริมศึกษา(ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว) ป.2-7 ที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ(ปัจจุบันคือโรงเรียนสุพรรณภูมิ ม.ศ.1-5 ที่โรงเรีงเรียนสงวนหญิง คบ.เอกเกษตรศาสตร์ จากวิทยาลัยครูพระนคร ศศบ. สารนิเทศาสตร์ จาก มสธ. กศม. การศึกษาผู้ใหญ่ จาก มศว. ปรด. จะจบหรือเปล่าไม่รู้ ที่ไหนยังไม่บอก เดี๋ยวจะทำสถาบันเสื่อมเสีย

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่

ชื่อโครงการวิจัย การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่
ที่เป็นผลจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว
The Study of Livelihood Change of Karen People at
Ta-Pern-Kee Village Resulting from Tourism Promotion.

โดย เกษรา ศรีวิเชียร
ทำการวิจัยเสร็จเรียบร้อย พ.ศ. 2549



บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ในจังหวัดสุพรรณบุรี และ 2 ) ศึกษาความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ ที่มีผลมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลง 3 ด้านคือด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านประเพณีและความเชื่อ สัมภาษณ์ผู้นำชุมชนและประชาชนในหมู่บ้านตะเพินคี่ แล้วนำคำสัมภาษณ์มาทำการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ เป็นไปอย่างเรียบง่ายการประพฤติปฏิบัติ ดำเนินไปภายใต้ข้อห้ามของหมู่บ้าน ได้แก่ การห้ามดื่มเหล้า ในหมู่บ้านห้ามเสพยาเสพติด ห้ามเล่นการพนัน และห้ามเลี้ยงเป็ดไก่ เพื่อฆ่ากัน อาชีพหลักคือ การทำการเกษตรกรรม ได้แก่ การปลูกข้าวไร่ และพืชไร่อื่น ๆ เช่น ข้าวโพด เผือก มัน
2. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านเพินคี่ ที่เป็นผลมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวพบว่า ทั้ง 3 ด้าน มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก


Abstract
This research was conducted to serve 2 purposes: 1) to study livelihood of Karen people at Ta- Pern -Kee village in Supanburi and 2) to study livelihood change of Karen people at Ta- Pern -Kee village resulting from tourism promotion, focused on 3 aspects as follows: economic aspect, social aspect, and custom and belief aspect. The research was done by interviewing log village leaders and Karen people at Ta- Pern -Kee village. A content analysis approach was introduced for analyzing the interview.
The findings unveil as follows:
1) The livelihood of Karen people at Ta- Pern -Kee Village were simply. Their behavior was restrained under the village taboo which were: no alcohol drinking, no drug, no gambling, and no breeding chicken and duck for kill. Their main occupation was agriculture: grain and other farm plants, such as corn, taro, and sweet potato.
2) The livelihood change of Karen people at Ta- Pern -Kee village resulting
from tourism promotion in all 3 aspects were slightly.

1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน โดยพื้นที่ตั้งของจังหวัดสุพรรณบุรี ปรากฏร่องรอยทางประวัติศาสตร์ว่า มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีตมาไม่น้อยกว่า 2,000 ปี เนื่องจากมีการขุดค้นพบ เครื่องมือหินขัด เครื่องมือโลหะ เตาดินเผา ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน เครื่องประดับโลหะต่าง ๆ รวมทั้งเศษภาชนะดินเผารูปทรงต่าง รวมทั้งมีการค้นพบลักษณะบ่งชี้ว่ามีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนต่าง ๆ ในสมัยโบราณกระจายอยู่ทั่วจังหวัดสุพรรณบุรีถึง 19 แห่ง[1]
ด้านพื้นที่ตั้งนั้น สุพรรณบุรีมีลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำ ทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้วิถีการดำรงชีวิตของคนสุพรรณบุรีแตกต่างกันออกไป ตามความเชื่อพื้นฐาน และค่านิยมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ของตน และมีพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องเป็นพลวัต
ประชากรในจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ประกอบด้วยประชากรที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มคนไทยเชื้อสายลาว ประกอบด้วย ลาวเวียง ลาวพวน ลาวครั่ง และลาวโซ่ง กลุ่มคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง กลุ่มคนไทยเชื้อสายละว้า กลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมร กลุ่มคนไทยเชื้อสายญวณ และกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน
ในความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของประชากรในจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น เฉพาะที่อำเภอด่านช้าง ซึ่งเป็นอำเภอชายแดนของจังหวัดเนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อ กับอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ ติดอำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี และทิศตะวันตก ติด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏว่า มีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือชาวเขา อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มชาวเขาที่มีประชากรมากที่สุด ได้แก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงโดยมีจำนวนประชากรที่เป็นชาวเขา จำแนกตามกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ดังนี้

ตารางที่ 1 แสดงจำนวนประชากรชาวเขาในเขตพื้นที่อำเภอด่านช้างจังหวัดสุพรรณบุรี[2]

ชื่อหมู่บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ ครัวเรือน ชาย หญิง เด็กชาย เด็กหญิง รวม

ต.องค์พระ
ม.1 ทุ่งมะกอก กะเหรี่ยง 23 45 49 28 39 161
ม.1 เขมรโรง กะเหรี่ยง 22 22 17 23 21 83
ต. วังยาว
ม.1 บ้านกล้วย กะเหรี่ยง 84 138 129 77 83 427
ม.2 ป่าผาก กะเหรี่ยง 40 47 52 41 47 187
ม.2 องค์พระ กะเหรี่ยง 7 7 9 6 4 26
ม.4 ละว้าวังควาย ละว้า 153 256 263 87 87 693
ม.5 ตะเพินคี่ กะเหรี่ยง 40 70 45 48 40 203
ม.6 ห้วยหินดำ กะเหรี่ยง 43 78 72 52 37 239
ม.7 ม่องฆะ ไทยพื้นราบ 105 126 139 35 39 33
ม.8 วังยาว2 กะเหรี่ยง 16 21 24 13 9 67
ต. ห้วยขมิ้น
ม.10 ละว้ากกเชียง ละว้า 90 164 124 29 30 347

ที่หมู่บ้านตะเพินคี่ หมู่ 5 ตำบลวังยาว เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ตั้งอยู่บนเขาสูง ชาวบ้านเกือบทั้งหมดเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง พื้นที่ของหมู่บ้านแห่งนี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจให้ติดตามหลายอย่าง[3] เช่น การที่ตั้งอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งเดียวของประเทศ และที่น่าสนใจในเชิงการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์อีกประการหนึ่งก็คือ ตะเพินคี่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย ที่เพิ่งประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้
ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยเช่นนี้เอง จึงทำให้ตะเพินคี่ถูกยกให้เป็นหมู่บ้านแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติเป็นเครื่องดึงดูดผู้คนให้ดั้นด้นเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวและช่วงงานประจำปีไหว้จุฬามณีหรืองาน บุญเดือนห้า ของหมู่บ้าน
ประเด็นที่น่าสนใจจึงมีว่า วัฒนธรรมของ ชุมชนกะเหรี่ยงที่ตะเพินคี่ที่เดิมระบบเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นหลัก พืชหลักที่ปลูก คือปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด ฟักทอง เผือก แต่เดิมดำรงชีวิตอย่างพออยู่ พอกิน ไม่เบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง มีจารีต ประเพณี เป็นข้อปฏิบัติ และข้อห้าม นั้น เมื่อมีการส่งเสริมให้หมู่บ้านตะเพินคี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว แล้ว วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงชุมชนตะเพินคี่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ ในจังหวัดสุพรรณบุรี
2. เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ ที่มีผลมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ประโยชน์ของการวิจัย
ได้ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ที่ไม่กระทบต่อค่านิยม ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
วิธีดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้รูปแบบการศึกษาเป็นรายกรณี (Case Study) มีวิธีการเก็บข้อมูล 2 วิธี คือ การศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์
การศึกษาเอกสาร ได้แก่ แนวคิด ทฤษฎี และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การสัมภาษณ์ โดยการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน และประชาชนในหมู่บ้านตะเพินคี่ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

ขอบเขตด้านเนื้อหา
การศึกษาครั้งนี้มุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ ใน 3 ด้าน คือ
1. การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ
2. การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม
3. การเปลี่ยนแปลงด้านประเพณี และความเชื่อ

ขอบเขตด้านพื้นที่
การวิจัยครั้งนี้ ศึกษาเฉพาะกรณี หมู่บ้านตะเพินคี่ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

ผลการวิจัย

1. วิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่
บ้านตะเพินคี่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 180 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอด่านช้าง ประมาณ 90 กิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือน 43 ครัวเรือน ประชากร 236 คน โดยประชากรเกือบทั้งหมดมีเชื้อชาติกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงตั้งชุมชนอยู่ ณ บริเวณนี้มาประมาณ 200 - 300 ปีมาแล้ว
การตั้งบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงจะตั้งรวมกลุ่มกันอยู่เป็นชุมชน แต่เดิมบ้านจะสร้างเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง ฝาและพื้น ทำด้วยไม้ไผ่สับฟาก หลังคามุงด้วยแฝก ต่อมาได้พัฒนาเป็นทำพื้นและฝาด้วยไม้กระดาน หลังคามุงด้วยสังกะสีหรือกระเบื้อง
ในหมู่บ้านตะเพินคี่ มีการปกครองที่เป็นแบบทางการ นั่นคือการปกครองส่วนท้องถิ่น มีตัวแทนคือผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และมีการปกครองที่มีลักษณะจำเพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นแบบไม่เป็นทางการ คือ ผู้เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำตามธรรมชาติ ที่เขาเรียกว่า “เจ้าวัด”
ชาวกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านตะเพินคี่ มีวิถีชีวิตที่แปลก แตกต่างจากกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่น ๆ กล่าวคือ ในหมู่บ้านตะเพินคี่ ถือเป็นหมู่บ้านปลอดอบายมุข เพราะมีข้อห้ามที่พวกเขาถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ห้ามดื่มเหล้า รวมถึงการนำเหล้าเข้ามาในหมู่บ้าน ทั้งนี้ไม่มีข้อยกเว้นให้กับนักท่องเที่ยวหรือชาวกะเหรี่ยงต่างถิ่นที่เข้าไปในหมู่บ้านตะเพินคี่ ไม่เสพยาเสพติดและไม่นำยาเสพติดเข้ามาในหมู่บ้าน และ ไม่เล่นการพนันในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังห้ามเลี้ยง เป็ด ไก่ ไว้ฆ่ากิน
การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงบ้านตะเพินคี่เด็กผู้หญิงและหญิงสาวพรหมจารีจะใส่เสื้อกระโปรงติดกันยาวถึงข้อเท้า คอวี ช่วงคอและชายกะโปรงจะปักเดินเส้นเป็นสีสันสดใส ส่วนใหญ่จะเป็นสีชมพู แดง แสด มีพู่ห้อย หญิงที่แต่งงานแล้วใส่เสื้อคอวีทรงกระสอบตัวสั้นแค่สะโพกสีแดง บานเย็น หรือสีอื่น ๆ มีพู่ห้อย นุ่งผ้าซิ่นยาวคลุมข้อเท้าสีสดใสเช่นเดียวกัน บางครั้งผู้หญิงจะมีผ้าโพกศรีษะ สำหรับผู้ชายจะใส่เสื้อสองแบบ คือเสื้อทรงกระสอบ คอวีคล้ายของผู้หญิง หรือใส่เสื้อเชิ้ต นุ่งโสร่ง ส่วนใหญ่จะเป็นลายตารางสีบานเย็นกับสีดำ
ลักษณะของครอบครัวจะเป็นระบบครอบครัวขยาย กล่าวคือ เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะต้องย้ายไปอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิง ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเขาสามารถที่จะสร้างฐานะด้วยตนเองก็จะแยกไปสร้างบ้านเรือนของตนเอง
ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านตะเพินคี่เป็นกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธ แต่มีความเชื่อในเรื่องผี เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โลกนี้และโลกหน้า โดยคำสอนหรือพิธีกรรมของพวกเขาทำ เพื่อความสบายในชาติหน้า ความเชื่อต่าง ๆ เหล่านี้ จะสะท้อนออกมาให้เห็นได้ในวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา เช่น การเลือกพื้นที่เพื่อทำไร่ การเลือกวันสำหรับเพาะปลูก หรือซื้อข้าวของเครื่องใช้ เป็นต้น
ประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้านตะเพินคี่ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นประเพณีที่รวบรวมชาวกะเหรี่ยงในแถบภาคตะวันตกไว้มากที่สุด คือประเพณีไหว้จุฬามณี หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ในวันนี้ ถือเป็นวันรวมญาติของชาวกะเหรี่ยง และเป็นวันที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ที่ลูก ๆ หลาน ๆ แสดงต่อบุพการี
2. การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ ที่มีผลมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว
2.1 การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในระบบเศรษฐกิจของคนในชุมชน
2.1.1 รายได้จากการบริการที่พัก ชาวกะหรี่ยงที่หมู่บ้านตะเพินคี่ ไม่มีรายได้จากการเข้าไปพักค้างของนักท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนำเต็นท์ไปเอง
2.1.2 รายได้จากการค้าภายในชุมชน
ในหมู่บ้านตะเพินคี่ มีร้านค้าเล็ก ๆ 2 ร้าน ลูกค้าหลักของร้านค้าทั้ง 2 ร้าน คือ สมาชิกในชุมชน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเตรียมอาหารการกิน และของใช้ส่วนตัวไปเอง สำหรับของที่ระลึกจากฝีมือของชาวกะเหรี่ยง ประเภท ถุงย่าม เสื้อ ผ้าซิ่น และผ้าพันคอ ขายได้ไม่มากนัก เนื่องจาก เป็นงานฝีมือ จึงมีราคาค่อนข้างแพง และสินค้าไม่มีให้เลือกมากนัก ทั้งนี้ เพราะงานแต่ละชิ้นจะต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องทอเป็นลวดลายต่าง ๆ เสื้อบางตัวอาจต้องใช้เวลานานถึง 3-4 เดือน ประกอบกับมี ผู้ทอผ้าพื้นเมืองได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ รายได้หลักของชาวกะเหรี่ยงยังอยู่ที่การประกอบอาชีพเกษตรกรรมของหมู่บ้าน
2.2 การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมพบว่า พบการเปลี่ยนแปลงดังนี้
2.2.1 การแต่งกาย ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านตะเพินคี่ มีการปรับการแต่งกายเป็นแบบชาวไทยพื้นราบมากขึ้น ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจากการที่นักท่องเที่ยวนำเสื้อผ้าขึ้นไปบริจาคให้ แต่ในวันสำคัญตามประเพณีของกะเหรี่ยงพวกเขาจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า โดยเฉพาะพิธีไหว้เจดีย์ หรือบูชาจุฬามณี ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องแต่งกายด้วยชุดแต่งกายประจำเผ่าเท่านั้น
2.2.2 วัฒนธรรมการบริโภค ชาวกะเหรี่ยงที่ตะเพินคี่ ยังบริโภคข้าวกับอาหารพื้นเมืองเป็นอาหารหลัก แต่เริ่มมีการดื่มกาแฟในวัยผู้ใหญ่ และเด็ก ๆ นิยมรับประทานขนมกรุบกรอบมากขึ้น เพราะเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวมักจะนำติดมือไปด้วย
2.2.3 ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม ในหมู่บ้าน พบว่า มีขยะเป็นพวกถุงขนมกรุบกรอบ ซองผงซักฟอกอยู่พอสมควร พวกเขายอมรับว่าเกิดจากพวกเขาเอง นักท่องเที่ยวที่มาพักนั้น ส่วนใหญ่จะเก็บขยะกลับลงไปด้วย ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่นการบุกรุก ตัดไม้ทำลายป่า เพื่อจัดเป็นสถานที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยว ปรากฏว่ายัง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของตะเพินคี่นั้น นับว่าถูกคุกคามน้อยมาก เนื่องจากยังไม่มีการก่อสร้างที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว
3. การเปลี่ยนแปลงด้านประเพณี และความเชื่อ
ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านตะเพินคี่ ยังคงดำเนินพิธีกรรมตามความเชื่อของตนเอง ตามปกติ พิธีกรรมสำคัญ ได้แก่ พิธีไหว้จุฬามณีในวันขึ้นปีใหม่ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 พิธีค้ำต้นไทร เพื่อสะเดาะเคราะห์ หลังจากขึ้นปีใหม่ และงานบุญข้าวใหม่

อภิปรายผล
จากผลการวิจัย มีข้อสังเกต ดังนี้
การท่องเที่ยว ที่ดำเนินไปภายใต้บริบทของชุมชน ที่ปราศจากการเข้าไปแทรกแซงของหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชน โดยปล่อยให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการเอง น่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนไม่มากนัก หรือถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ดังที่ชุมชนกะเหรี่ยง ที่หมู่บ้านตะเพินคี่ ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีอิทธิพลอีกประการหนึ่งคือ ความยากลำบากในการเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านดังกล่าว ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่ยังมีน้อย เป็นตัวช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในหมู่บ้านตะเพินคี่
สำหรับการใช้พิธีกรรม หรือประเพณีสำคัญ ๆ มาประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว ตามที่นันทา เบญจศิลารักษ์ [4]เขียนไว้ในบทความ “การท่องเที่ยว ลูกกวาด หรือ ยาขมของคนดอย” ว่า ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่า ที่จะทำพิธีนี้หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณเดือนกันยายนของทุกปี แต่ขณะนี้ประเพณีดังกล่าวได้ถูกแปรเปลี่ยนมีความหมายเพียงการแสดงเต้นรำประกอบเพลง ประกอบการแสดงกายกรรมโล้ชิงช้า โดยชาวเขาเผ่าอาข่าเองบอกว่ารู้สึกแปลก ๆ และกลัวผิดผี แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับหมู่บ้านไปเสียแล้ว น่าจะเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่จะต้องตระหนักเป็นอันดับแรก น่าจะเป็นการสร้างจิตสำนึกของนักท่องเที่ยว ให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการประเมินผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวของตนเอง โดยเลือกที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสังคมและวัฒนธรรม โดยไม่ละเลยต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันการสูญเสียทางวัฒนธรรม โดยผ่านการให้ความรู้ในระบบการศึกษา
จากการสังเกต และพูดคุยกับชาวกะเหรี่ยงที่บ้านตะเพินคี่ ทำให้เกิดสมมติฐานใหม่ขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้ว หากจะมีการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่บ้านตะเพินคี่ น่าจะเป็นเพราะนโยบายด้านอื่น ๆ ของรัฐ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยง สามารถซื้อรถจักรยานยนต์ขับขี่ มีโทรทัศน์ดู โดยผ่านแผงโซล่าเซล ที่รัฐมาติดตั้งให้ เมื่อต้นปี 2549


ข้อเสนอแนะ
1. ควรมีการศึกษาว่า นโยบายด้านการพัฒนาของรัฐ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหรือไม่ อย่างไร
2. หากภาครัฐจะมีการเข้าไปส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ควรจะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในการวางแผน และ การบริหารจัดการ
4. การกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดจิตสำนึกในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้นักท่องเที่ยวเข้าไปละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิต ประกอบพิธีกรรมของเจ้าของชุมชน
บรรณานุกรม

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. ชาวเขา . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. 2518.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี. 2542
นันทา เบญจศิลารักษ์ . การท่องเที่ยวลูกกวาดหรือยาขมของคนดอย. เอกสารระกอบการ
ประชุม เรื่อง “ ทิศทางศิลปและวัฒนธรรมไทย” วันที่ 16-17 สิงหาคม 2536.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ : ชาวเขาในไทย . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน. 2545.
พระมหาสุเทพ ผิวเผือด. ผลกระทบด้านสังคมและวัฒนธรรมของการท่องเที่ยวที่มีต่อวัด
และชุมชน ศึกษาเฉพาะกรณีวัดไผ่โรงวัว ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง
จังหวัดสุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์.2545.
ภูสวัสดิ์ สุขเลี้ยง. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม: กรณีศึกษาหมู่บ้านห้วยโป่ง
ผาลาด อำเภอเวียงป่าเป้าจังหวัดเชียงราย.วิทยานิพนธ์ ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2543
ยศ สันตสมบัติและคณะ. การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและ
การจัดการทรัพยากร.
รพีพรรณ ทองห่อ. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นผลมาจาก
การท่องเที่ยว : กรณีศึกษาจังหวัดน่าน . รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัย
รามคำแหง. 2545.
ศิริ ฮามสุโพธิ์ . สังคมวิทยาการท่องเที่ยว. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตว์.
2543
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ. ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง .
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร. 2519.
สุนทรี ศิลพิพัฒน์. ชาวเขาในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บริษัทวิคตอรี
เพาเวอร์พอยท์จำกัด. 2529.
http: // asia.geocities.com/uthaihill/webuthai 12.htm
http: //www.sac.or.th/database/ethnic/Karen.htm/


[1] พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น 2542 หน้า 29-30
[2] http://asia.geocities.com/uthaihill/webuthai12.htm ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2549
[3] วัชรินทร์ โสไกร หนังสือพิมพ์คนสุพรรณ ปีที่ 39 ฉบับที่ 1475 วันที่ 16 สิงหาคม 2539

[4] นันทา เบญจศิลารักษ์ : การท่องเที่ยวลูกกวาดหรือยาขมของคนดอย ในเอกสารการประชุมเรื่อง “ ทิศทางศิลปและวัฒนธรรมไทย” วันที่ 16-17 สิงหาคม 2536. หน้า 39

2 ความคิดเห็น:

  1. การเดินทางไปรถประจำทางเช้าเย็นกลับจะได้ไหมคะ

    ตอบลบ