เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
สุพรรณบุรี, Thailand
ผู้หญิงอายุเยอะ น้ำหนักมาก รักแมว ชอบเที่ยวป่า ดูนก แต่ไม่ตกปลา เกิดที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี เป็นลูกคนแรกที่แม่ไปคลอดที่โรงพยาบาล โดยไม่ผ่านมือหมอตำแย เป็นคนสุพรรณฯ เลือดร้อย เรียนอนุบาลและป.1 ที่โรงเรียนอนุบาลเสริมศึกษา(ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว) ป.2-7 ที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ(ปัจจุบันคือโรงเรียนสุพรรณภูมิ ม.ศ.1-5 ที่โรงเรีงเรียนสงวนหญิง คบ.เอกเกษตรศาสตร์ จากวิทยาลัยครูพระนคร ศศบ. สารนิเทศาสตร์ จาก มสธ. กศม. การศึกษาผู้ใหญ่ จาก มศว. ปรด. จะจบหรือเปล่าไม่รู้ ที่ไหนยังไม่บอก เดี๋ยวจะทำสถาบันเสื่อมเสีย

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

“เปิดความคิดเยาวชนสู่สังคมจิตอาสา”




โครงการบูรณาการการสร้างเสริมสุขภาวะภาคกลาง“เปิดความคิดเยาวชนสู่สังคมจิตอาสา”จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลักการและความสำคัญ
การที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม มีประชากรแฝงจากการย้ายเข้ามาทำงาน โดยตามทะเบียนราษฎร์ประชากร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประมาณ 764,811 คน แต่จำนวนประชากรแฝงหรือประชากรพื้นที่อื่นที่เข้ามาอาศัยและทำงานมีมากถึง 5 แสนคน (http://milano3030.multiply.com/reviews/item/16)%20ความอบอุ่นในครอบครัว ที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพ่อ แม่ลูก เปลี่ยนไป เพราะพ่อ แม่ มีช่วงเวลาการทำงานไม่ตรงกัน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่มีโอกาสได้อยู่พร้อมหน้ากัน ลูกจึงมีเวลาที่จะอยู่กับสังคมนอกบ้านมากกว่าสังคมครอบครัว
จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรแฝง ที่ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรม เยาวชนที่เข้ามาศึกษาในสถานศึกษาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักอาศัยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงมีสาธารณูปโภคและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กระจายลงสู่ทุกพื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สภาวการณ์ดังกล่าวนี้ จึงทำให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเข้าถึงสื่อสังคมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นการดีหากเป็นสื่อสังคมให้แก่เยาวชนในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าด้านลบ ซึ่งสื่อสังคมด้านลบในปัจจุบันเริ่มมีอิทธิพลต่อเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ คลิปวีดีโออนาจาร ภาพนักเรียนตบตีกัน ภาพการใช้ความรุนแรงอื่นๆ จนทำให้เกิดค่านิยมที่ผิดในกลุ่มวัยรุ่น ได้แก่ การรวมกลุ่มแข่งจักรยานยนต์บนถนนทางหลวง การก่อคดีปาหินใส่รถยนต์ การก่อคดีลักขโมยและอาชญากรรมอื่นๆ
จากรายงานสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบประเด็นที่น่าสนใจ และสมควรให้ความสำคัญที่จะต้องร่วมกันหาทางป้องกัน แก้ไข หลายประการ ดังนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทำวิจัยสถานการณ์การเฝ้าระวังพฤติกรรมของเด็กไทย ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยศึกษาวิจัยปัญหาสังคมของเด็กวัยรุ่นใน 10 ประเด็น 54 ตัวชี้วัด โดยศึกษาจากเด็กและเยาวชนทั้ง 16 อำเภอ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอละ 360 ตัวอย่าง รวมทั้งจังหวัดคิดเป็น 5,706 คน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจข้อมูลพื้นฐานพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน รวมถึงการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม ตลอดจนวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของเด็กไทยโดยจำแนกลักษณะความรุนแรงของปัญหาในแต่ละพื้นที่ ผลการศึกษาข้อมูลเยาวชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่ามี 6 ประเด็น เข้าข่ายต้องเฝ้าระวัง ซึ่งผู้ปกครองต้องจับตามองและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ประกอบด้วย ความสนใจของนักเรียนพบว่ามีความสนใจด้านการศึกษาน้อยลง ด้านการใช้ความรุนแรงพบว่ามีมากขึ้นหลายเท่าตัว ด้านการดูแลสุขภาพพบว่าไม่มีการใส่ใจตัวเองเท่าใดนัก เช่น การหันมาทานอาหารขยะและน้ำอัดลมมากขึ้นและพบว่าเด็กให้เวลาในการออกกำลังกายน้อยลง ด้านความรักและความสัมพันธ์ทางเพศ พบว่า ในกลุ่มวัยรุ่นนิยมมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และด้านการใช้เวลาว่างส่วนใหญ่หมดไปกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์(http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=12281.0) ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของนักวิจัยโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 พบประเด็นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของเด็กและเยาวชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในหลายด้าน เช่น เด็กและเยาวชน มีพฤติกรรมในการบริโภคอาหารที่ทำลายสุขภาพ เช่น อาหารจานด่วน (fast food) ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม เช่น การคุยโทรศัพท์กับคนแปลกหน้า การแยกตัวจากครอบครัวมาอยู่คนเดียวหรืออยู่กับคนรักของกลุ่มวัยรุ่น การเที่ยวกลางคืน ดูการ์ตูน หนัง หรือ คลิปอนาจาร การเล่นพนัน ตลอดจนมีการใช้ยาเสพติด การพกพาอาวุธ การขู่กรรโชกทรัพย์ และทำร้ายร่างกายกันในสถานศึกษา ซึ่งปัญหาเหล่านี้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนหนึ่ง สามารถบริหารจัดการชีวิตของตัวเองให้มีความสุขอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปในแนวทางที่ไม่ดี ทั้งนี้ผู้เสนอโครงการเคยทดลองดำเนินการนำนักศึกษาและผู้มีจิตอาสาไปร่วมทำกิจกรรมด้านจิตอาสา จำนวน ครั้ง 2 คือ ครั้งที่ 1 นำผู้มีจิตอาสาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ไปร่วมกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อุทยานแห่งชาติไทยประจัน จังหวัดราชบุรี และครั้งที่ 2 ไปจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติที่โรงเรียนบ้านกกตาด อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ผลจากการจัดกิจกรรมทั้ง 2 ครั้ง เยาวชนที่ไปร่วมกิจกรรม สะท้อนความเห็นและความรู้สึกว่าพวกเขามีความสุขที่มีโอกาสได้ร่วมทำกิจกรรมกับคนอื่นๆ และรับรู้ว่าการทำความดีไม่ใช่สิ่งยาก เพียงแต่บางครั้งเขาขาดพื้นที่แสดงออก และผู้ใหญ่ใจดีที่จะชักชวนเข้าทำกิจกรรมดี ๆ
หากพิจารณาศักยภาพด้านพื้นที่ตั้งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะพบว่ามีจุดเด่นอยู่ที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร การเดินทางไปมาสะดวก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่พระนครศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก แต่จากจุดเด่นดังกล่าว กลับส่งผลให้ ปัจจุบันต้องพบปัญหาเสี่ยงต่อการถูกถอดถอน เนื่องจากบริเวณพื้นที่มรดกโลกมีการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม มีการบุกรุกของชุมชน (นางโสมสุดา ลียะวณิช รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม: เดลินิวส์ วันจันทร์ ที่ 30 พฤศจิกายน 2552) จากการประชุมเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยของเครือข่ายวิจัยเครือข่ายอุดมศึกษาภาคกลางตอนบน ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 ที่ประชุมสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับมรดกโลกของพระนครศรีอยุธยาว่า คนในพื้นที่ให้ความสนใจกับการเป็นมรดกโลกในเชิงพาณิชย์ ไม่ได้ให้ความสำคัญเชิงอนุรักษ์และละเลยคุณค่าของความเป็นมรดกโลก สำหรับการบริหารจัดการในพื้นที่มรดกโลกนั้น มีความทับซ้อนอย่างมากในด้านระเบียบ กฎหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ปัจจุบัน ได้มีการกล่าวถึงแนวคิด “จิตอาสา” กันมากขึ้น จนถึงกับกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติการให้และอาสาช่วยเหลือสังคม เป็นการร่วมมือกันรณรงค์ส่งเสริม " จิตอาสา "ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นการปลุกน้ำใจคนไทยให้งอกงามกลับมาอีกครั้งหนึ่ง มาช่วยกันดูแลสังคมไทยร่วมกัน ดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน ตลอดจนปัญหาต่างๆรอบๆตัว อย่างน้อย มองออกมานอกกรอบของเรื่องตัวเอง ออกมาดูคนอื่น เห็นใจ เข้าใจคนอื่นกันมากขึ้น ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดี ทำดีให้เป็นรูปธรรมกันมากขึ้นในสังคมไทย มิใช่เพียงแต่วิจารณ์ ต่อว่าใครหรือคนกลุ่มใด ผู้เสนอโครงการจึงได้ศึกษา ทำความเข้าใจเบื้องต้น เกี่ยวกับคำว่า “จิตอาสา” พบว่า จิตอาสา เป็นการให้โดยสละตัวตนของเราออกไปด้วยการทำงานช่วยเหลือให้บริการผู้อื่นจากใจในขณะที่ขัดเกลาจิตใจตัวเองกันไปด้วย เป็นจิตอาสาที่จะทำให้สังคมและผู้อื่นมีความสุข ผู้รับเองก็เป็นผู้ให้ไปในตัว อย่างน้อยก็เป็นผู้ทำให้ผู้ให้ได้ให้และมีความปลื้มปิติที่ได้ทำสิ่งดีดี จิตอาสา คือจิตที่ต้องการให้ผู้อื่น ตั้งแต่การให้เงิน ให้ของ จนกระทั่งให้แรงงานแรงสมองหรือที่เรามักเรียกว่า อาสาสมัคร เพื่อช่วยให้ผู้อื่นหรือสังคมมีความสุขมากขึ้น การให้หรือเสียสละนี้สามารถทำไปได้จนถึงการเสียสละความเป็นตัวตนหรืออัตตาของเรา ลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ พระไพศาล วิสาโล ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ จิตอาสา ” ไว้ในหนังสือ เมื่อดอกไม้บานสะพรั่งทั้งแผ่นดินว่า “จิตอาสาคือจิตที่พร้อมจะสละเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดายเมื่อพบเห็นปัญหาหรือความทุกข์ยากเกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดีและเห็นน้ำตาเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย “บุญ” คือความสงบเย็นและพลังแห่งความดี” (http://www.vachiraphuket.go.th/%20www/%20volunteer%20/?%20name=knowledge&file=readknowledge&id=4, http://www.kanlayanatam.com/sara%20/sara%20142.htm , http://writer.dek-d.com/nana_devil/story/view.php?id=514436)
จากการพิจารณาสภาวการณ์ปัจจุบันของสังคมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “จิตอาสา” ผู้เสนอโครงการ มีความเชื่อว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านสังคม ปัญหาด้านความเสี่ยงในการที่จะถูกถอดพื้นที่ออกจากการเป็นมรดกโลก วิธีการหนึ่งคือ การเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ได้ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น อันจะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้เห็นคุณค่าของตนเอง เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีน(จิตอาสา)ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อลดความเสี่ยงในการก้าวสู่สังคมของเด็กมีปัญหา ทั้งนี้ การสร้างพื้นที่สีขาว ถือเป็นช่องทางในการแสดงออกในเรื่องดีๆ เป็นทางเลือกให้กับเด็กและเยาวชนในอยุธยา และท้ายที่สุด พลังของเด็กและเยาวชนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้น จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญในสังคม ที่จะมีส่วนเข้าแก้ไขปัญหาสังคมโดยเฉพาะปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้น นำสังคมก้าวไปสู่สังคมสุขภาวะได้ในอนาคตโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม และมีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยใช้ศักยภาพของความเป็นวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เปิดสอนในหลากหลายสาขาวิชา ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

วัตถุประสงค์
1). เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรที่ทำงานในเรื่องเด็กและเยาวชน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2). เพื่อให้เกิด “พื้นที่สีขาว” ซึ่งจะเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรม หรือช่องทางในการแสดงออกถึงจิตอาสาที่มีอยู่ในเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3). เพื่อให้เกิดเครือข่ายการทำงาน “เด็กและเยาวชนจิตอาสารุ่นที่๑” ซึ่งเป็นแกนนำในการทำงานเชิงบวกในเรื่องของเด็กและเยาวชน และเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวสู่สังคมสุขภาวะต่อไป


กรอบแนวคิดการทำงาน








ขอบเขตการทำงาน


มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นสถาบันการศึกษาหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากการที่ผู้วิจัยเองทำงานอยู่ในสำนักงานผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ของมหาวิทยาลัยดังกล่าว มีประสบการณ์ทำงานวิจัยร่วมกับองค์กรเครือข่ายต่างๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การทำงานที่ผ่านมา สังเกตเห็นว่า มีองค์กรเครือข่ายที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนหลายองค์กร เช่น โครงการ Child Watch โครงการต้นทุนชีวิตเด็ก โครงการบ้านหลังเลิกเรียน (นโยบายผู้ว่าราชการจังหวัด) ดำเนินการโดยสมัชชาสุขภาพจังหวัด และหน่วยงานราชการในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งองค์กรเครือข่ายเหล่านี้ มีประสบการณ์เรื่องการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่พร้อมทั้งองค์ความรู้ต่างๆที่ค้นพบ นับเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการจัดกระบวนทัพการทำงานในโครงการ “เปิดความคิดเยาวชน สู่สังคมจิตอาสา” เพื่อสานพลัง ภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยการเนรมิตพื้นที่สีขาว ให้กับเด็กและเยาวชน เข้ามาร่วมกันเรียนรู้เรื่องจิตอาสา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชน นำไปสู่การลดทอนปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้ไม่มากก็น้อย
บทบาทหน้าที่ของทีมวิจัยชุดนี้ เปรียบเสมือน “เชือกที่คอยร้อยเรียงภาคีเครือข่ายที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมกันสรรค์สร้างพื้นที่สีขาว เพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้อาศัยพื้นที่สีขาวนี้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และที่สำคัญ เป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเอง” ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่ดังกล่าว จะสะท้อนผ่านกลไกการทำงานดังนี้


1. การค้นหาเครือข่ายการทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยการประชุมกลุ่มย่อย พบปะ พูดคุย ชักชวน และทำความเข้าใจการทำงานเบื้องต้นร่วมกัน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งผ่านข้อมูลต่างๆ ของแต่ละภาคีเครือข่าย จะมีการประชุมกลุ่มย่อยจำนวน 10 ครั้ง ในระหว่าง เดือนกันยายน 53 – เดือนพฤศจิกายน 53
2. การบูรณาการระหว่างภาคีเครือข่ายที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนพื้นที่ โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (workshop) จำนวน 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ทบทวนสถานการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน และเลือกสรร ประเด็นการทำงานที่น่าสนใจร่วมกัน ภายใต้กรอบการทำงานเรื่องจิตอาสาร่วมกัน และระดมความคิดเห็นในประเด็น “พื้นที่สีขาว ภูมิคุ้มกันที่สร้างได้” เป็นการออกแบบกระบวนการทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างและส่งเสริมกระบวนคิดเรื่องจิตอาสาโดยจัดขึ้นในช่วงเดือน ธันวาคม 53 ผู้เข้ร่วมประมาณ 50 คน
ครั้งที่ 2 นำเสนอโครงการจิตอาสา พร้อมทั้งคัดเลือกโครงการ 5 โครงการ โดยจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 54 โดยผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน
3. ปฏิบัติการสรรค์สร้างจิตอาสา ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 2 ภายใต้ประเด็นการทำงานที่ตกลงร่วมกันในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 1 โดยจะดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 54 –สิงหาคม 54
โดยมีตัวอย่างกิจกรรมที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ได้แก่
1. อาสาสมัครโครงการ “ศิลปกรรมเก่า เล่าเรื่อง” เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กและเยาวชนเข้าร่วมศึกษาเรียนรู้ เมืองเก่า ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร จากปราชญ์ชุมชน และให้ผู้เข้าร่วม สะท้อนความคิดเห็น ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่นวาดภาพ แสดงละคร แต่งกลอน แต่งเพลง หรือ เขียนบทความ เป็นต้น เปรียบเทียบกันระหว่างเมืองเก่าในอดีต และเมืองอยุธยาในปัจจุบัน กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นจิตใต้สำนึกของเด็กและเยาวชนในเรื่องอยุธยาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และกระตุ้นให้เด็กรักและหวงแหนเมืองเก่าให้อยู่คู่เมืองอยุธยาตลอดไป
2. อาสาสมัครโครงการ “มรดกโลก ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของมรดกโลก โดยใช้สัมผัสทั้งห้าในการรับรู้สิ่งรอบตัว ที่สำคัญการรับรู้ทุกขณะต้องใช้สติ และหัวใจในการรับรู้ต่างๆ และให้เด็กจิตสัมผัสทั้งหมดที่รู้สึก ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น วาดภาพ แสดงละคร แต่งกลอน แต่งเพลง หรือ เขียนบทความ เป็นต้น และช่วยกันทำความสะอาด และพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้า เพื่อรับทราบเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องการปรับภูมิทัศน์ ที่ก่อเป็นความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน และถกแถลงร่วมกัน กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่สร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้เห็นคุณค่าของมรดกโลก ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์มรดกโลกต่อไป
3. อาสาสมัครโครงการ “ล่องเรือ ทำความดี” เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรอบเกาะในเมืองอยุธยานั้น มีร้านอาหารริมคลองมากมาย ซึ่งแต่ละร้านก็อาศัยแม่คงคา ในการทิ้งของเสีย ถึงแม้ว่าแม่น้ำในคูเมืองเก่า จะไม่เน่า เนื่องจากน้ำไหลตลอดเวลา แต่ก็ไม่สะอาด ที่สำคัญ ปัจจุบันยังมีการใช้การคมนาคมขนส่งทางเรืออยู่มาก ในอยุธยา โดยเฉพาะเพื่อการท่องเที่ยว ดังนั้น กิจกรรมนี้จะพาเด็กและเยาวชน ล่องเรือ และมีผู้ใหญ่ เล่าขานตำนานเมืองเก่า ที่เชื่อมโยงข่ายใยโดยใช้แม่น้ำลำคลองเป็นหลัก และแวะพูดคุยกับร้านอาหารต่างๆที่อยู่ริมคลอง และให้ผู้เข้าร่วมสะท้อนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น วาดภาพ แสดงละคร แต่งกลอน แต่งเพลง หรือ เขียนบทความ เป็นต้น กิจกรรมนี้ จะสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป

4. เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการและภาคีเครือข่าย ร่วมกันถอดบทเรียนการทำงานผ่านกิจกรรมต่างๆ จะดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน 54 – พฤศจิกายน 54
5. จัดมหกรรม ”พื้นที่สีขาว ภูมิคุ้มกัน สรรค์สร้างสังคมสุขภาวะ” เป็นการรวบรวมและแสดงผลงานจากการทำกิจกรรมต่างๆที่ผ่านมา และเป็นเวทีเสวนารวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนทั้งเชิงรับและเชิงรุก โดยจะจัดในช่วงเดือนธันวาคม 54


พื้นที่ในการดำเนินการ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ระยะเวลาในการดำเนินงาน
ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 – เดือนมีนาคม 2555 รวมระยะเวลาในการดำเนินการทั้งหมด 18 เดือน


ผู้รับผิดชอบดำเนินการ


1). นางสาวเกษรา ศรีวิชียร
ตำแหน่ง หัวหน้าสำนักงานผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ถนนปรีดีพนมยงค์ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13000 โทรศัพท์ 035322076 – 9 ต่อ 2715 หรือ 035322082
ประสบการณ์การทำงาน
พ.ศ. 2547 – 2552 ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. 2546-2547 ช่วยราชการทำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ , กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พ.ศ. 2544 – 2546 ตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอกิ่งอำเภอสามร้อยยอดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ประสบการณ์การทำงานด้านอาสาสมัคร
อาสาสมัครโครงการปลูกป่าสร้างฝาย ของรายการคนละไม้คนละมือ
อาสาสมัครโครงการอาสาสร้างกุฏิ ของรายการคนละไม้คนละมือ
หัวหน้าโครงการสร้างฝายชะลอน้ำ “ผลิช่อและหน่ออ่อนของการทำความดี”
หัวหน้าโครงการผลิช่อและหน่ออ่อนการทำความดี โครงการ 2 “แบ่งสุขให้น้อง”ฯลฯ

2). นางสาวฤดี เสริมชยุต
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัย ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ถนนปรีดีพนมยงค์ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13000 โทรศัพท์ 035322076 – 9 ต่อ 2715 หรือ 035322082
ประสบการณ์การทำงานด้านอาสาสมัคร
อาสาสมัครโครงการอาสาสร้างกุฏิ ของรายการคนละไม้คนละมือ
อาสาสมัครโครงการผลิช่อและหน่ออ่อนการทำความดี โครงการ 2 “แบ่งสุขให้น้อง”ฯลฯ

3). นางสารภี พูลศิริ
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ถนนปรีดีพนมยงค์ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13000 โทรศัพท์ 035322076 – 9 ต่อ 2601


ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ (out put)
1). เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 5 กิจกรรม ไม่น้อยกว่า 300 คน และไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด เป็นแกนนำและเครือข่ายการทำงานในประเด็นเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่อไป
2). ผลักดันแนวทางการทำงานเรื่องเด็กและเยาวชน ในมุมมองของเด็กและเยาวชน ผ่านสภาเด็ก ที่มีการเชื่อมประสานกับสภาเด็กในจังหวัดใกล้เคียง เช่น เด็กในโครงการนครปฐมโมเดล จังหวัดนครปฐม และ สภาเด็ก ของจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น เข้าสู่แผนการทำงานของหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น องค์กรพัฒนาสังคมจังหวัด เครือข่ายเด็กและเยาวชนอื่นๆ เป็นต้น
3). สามารถดำเนินกิจกรรมในกลุ่ม “เยาวชนจิตอาสา” อย่างต่อเนื่อง โดยองค์กรภาคีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหน่วยเสริมหนุนการทำงาน และเป็นพี่เลี้ยงต่อไป

ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับ (outcome)
1). เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน หนุนเสริม การทำงานซึ่งกันและกัน ระหว่างองค์กรเครือข่ายที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2). เกิดการสานพลังระหว่างภาคีเครือข่าย ในการทำงานก้าวต่อไปในประเด็น จิตอาสา ซึ่งเป็นการทำงานเชิงบวก และเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกบเด็กและเยาวชนในพื้นที่
3). เกิดการพลิกฟื้นคุณค่าและสร้างคุณค่าใหม่ โดยเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะเกิดความภาคภูมิใจและสะท้อนความภาคภูมิใจนี้ผ่านการแสดงความคิดเห็น และการเข้าร่วมกิจกรรม อย่างต่อเนื่อง และสามารถพัฒนาตนเองก้าวเข้ามาเป็นแกนนำเยาวชนจิตอาสารุนที่ ๑ อย่างภาคภูมิใจ

ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ


เครือข่ายจิตอาสาสำหรับเยาวชน โดยสามารถระดมเยาวชนเข้าร่วมปฏิบัติการจิตอาสาไม่ต่ำกว่า 300 คน โดยปฏิบัติการดังกล่าวนำไปสู่แรงบันดาลใจให้เยาวชนสามารถพัฒนานวัตกรรมจิตอาสาที่เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 10 ผลงาน














วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คิดถึงออกพรรษาเมื่อครั้งยังเยาว์ กับประเพณีขอทานขนมห่อ

คิดถึงออกพรรษาเมื่อครั้งยังเยาว์

วันนี้ 23 ตุลาคม 2554 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ไปไหนไม่ได้ เพราะบ้านที่สุพรรณ ฯ น้ำท่วม ทางบ้านไม่ให้กลับ ในขณะเดียวกัน ที่บริเวณเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งมาอาศัยในเวลาทำงาน ก็เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมเช่นกัน

การสอบถามข่าวคราวน้ำท่วมกับทางบ้านใช้เพียงโทรศัพท์ ตอนเช้าหุงข้าว ตุ๋นไก่ ไปใส่บาตร แล้วขับรถตระเวณดูระดับน้ำรอบ ๆ เกาะเมือง แล้วออกไปอีกรอบ ตอนช่วงบ่าย เฮ้อ! จะรอดไหมเนี่ย

ออกพรรษาอย่างนี้ น้ำหลากอย่างนี้ ทำให้ความคิดแวบไปถึงเทศกาลออกพรรษาในวัยเยาว์ ความจริงฉันเป็นคนที่จำเรื่องในวัยเด็กได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับน้อง ๆ หากในวงสนทนาของครอบครัว มีการพูดถึงความหลังครั้งเยาว์วัย ดูเหมือนฉันจะเป็นคนเดียวที่ไม่ค่อยมีเรื่องเล่า จะทำหน้าที่เป็นผู้ฟัง แต่เทศกาลออกพรรษา กับประเพณีขอทานขนมห่อ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่อยู่ในความทรงจำแม้จะขาดรายละเอียดไปบ้างก็ตาม

ก่อนถึงวันออกพรรษา แม่จะเตรียมอาหาร และทำขนม เช่น ข้าวต้มมัด ที่บางคนเรียกว่าข้าวต้มผัด ขนมเทียน หรือที่บ้านเรียกขนมห่อ เพื่อเตรียมไปตักบาตรเทโว ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 บางปีที่น้ำมากพระสงฆ์ท่านไม่สามารถจะเดินรับบาตรจากกุฏิที่มีชาวบ้านตั้งแถวรอใส่บาตรเป็นแถวยาวถึงศาลาการเปรียญได้ ก็จะตักบาตรกันรอบ ๆ หอสวดมนต์

ในคืนวันก่อนออกพรรษา คืนวันออกพรรษา และยาวไปถึงหลังออกพรรษา 1 คืน ในแม่น้ำท่าจีน จะมีเรือแปะ ที่บรรทุกหนุ่ม ๆ มาลำละ หลายๆ คน พากันปรบมือ ตีกลอง ตีฉิ่ง ตีฉาบ แล้วจะจะหาเครื่องดนตรีชนิดไหนได้ ที่ไม่หนักและเกะกะ ร้องเพลงกันมา เมื่อครั้งยังเด็กมาก ๆ จะมีคืนละหลาย ๆ ลำ พายมาเทียบชานบ้าน หรือหน้าบ้าน ที่อยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งถ้าปีใดน้ำมาก สามารถพายเรือเทียบนอกชานได้เลยทีเดียวเพื่อขอขนมห่อ หรือข้าต้มมัด จากแต่ละบ้าน บ้านไหนมีลูกสาว ก็มักจะมีเรือขอทานขนมห่อแวะมาหลายลำ

จำได้ว่าในคืนอย่างนี้ พ่อ แม่ และลูก ๆ มักจะนั่งชมจันทร์ที่นอกชานบ้าน ฟังเพลงจากเรือขอทาน ฟังนิทานจากพ่อและแม่ ที่บ้านมีเรือขอทานแวะเวียนมาหลายลำเหมือนกันเพราะมีลูกสาว 3 สาว เพียงแต่สาวที่3 อย่างฉันยังเด็กมากเหลือเกิน

พ่อจะมีลูกเล่นกับพวกขอทานอยู่บ่อย ๆ เช่นทำทีเหมือนถือชามไป แต่ขอเช็คดูในปี๊บใส่ขนมของหนุ่มขอทาน ว่าขอดูซิได้ขนมเยอะไหม จากนั้นก็จะล้วงเอาขนมของพวกขอทานออกมาใส่ชามที่ถือไป บอกว่าพอดีบ้านลุงไม่ได้ทำขนมขอแบ่งมาบ้างแล้วกัน ก็จะเรียกเสียงหัวเราะจากบรรดาหนุ่มขอทานได้ บรรดาหนุ่ม ๆ ขอทานเหล่านี้จะมีการสวมหมวก โพกผ้า หรือปิดหน้าเพื่ออำพรางใบหน้า แต่ส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าเป็นใคร เนื่องจากมักเป็นผู้คุ้นเคยกันอยู่แล้ว และเป็นช่วงที่เดือนหงาย ก็จะสามารถมองเห็นใบหน้ากันได้ค่อนข้างชัดเจนบางทีพี่ชาย ที่เป็นหนุ่มแล้วก็ไปเป็นขอทานกับเขาด้วย

ขอทานขอขนมห่อนี้ หายไปน่าจะราว ๆ เมื่อฉันอายุได้สัก 14 - 15 ปี เคยถามผู้อาวุโสในแถบลุ่มน้ำ ๆ ทางอยุธยา ป่าโมก ก็ไม่มีใครรู้จักประเพณีนี้ น่าเสียดายที่ฉันจำรายละเอียดได้น้อยมากๆ คนเก่าคนแก่ ก็ทยอยล้มหายตายจากไปเกือบหมด แต่หากสามารถหารายละเอียดได้มากกว่านี้ จะเพิ่มเติมให้ในโอกาสต่อไป

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ตลาดชุมชนริมแม่น้ำท่าจีน : ตลาดเก้าห้อง

ตลาดเก้าห้อง
ตลาดเก้าห้องตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า ประกอบด้วยห้องแถวไม้ อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ไปทางทิศใต้ ประมาณ 8 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นของตลาดเก้าห้อง คือ เมื่อนายฮง หรือบุญรอด เหลียงพานิชย์ ผู้มีฝีมือด้านช่าง และการค้า ได้อพยพครอบครัวจากกรุงเทพฯมาตั้งหลักแหล่ง ณ บริเวณบ้านเก้าห้อง ประกอบอาชีพหาบเร่แลกข้าวเปลือกด้วยของ ต่อมาจึงได้ซื้อเรือสำปะนี 1 ลำ โดยให้นางแพ ผู้เป็นภรรยาขายของตามลำน้ำ ส่วนตัวนายฮวดหาบของขายทางบก ขายของได้สักระยะหนึ่งเห็นว่าเรือที่ซื้อมาชักคับแคบจึงได้สร้างเรือนแพขึ้น จอดอยู่หน้าบ้านเก้าห้อง ส่วนภรรยาแจวเรือแลกข้าวไปตามลำน้ำ ในยุคนั้น “แพเจ็กรอด” เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป สินค้าที่ขายดีมาก คือ เครื่องกองบวช อุปกรณ์การทำนา เครื่องอุปโภคบริโภค และเห็นว่าบริเวณติดกับวัดบ้านหมี่ น่าจะเป็นทำเลที่เหมาะสมในการก่อตั้งตลาด เนื่องจาก ในช่วงฤดูแล้งจะมีเกวียนมาลงท่าวราว 100- 200 เล่ม ในขณะเตรียมการตั้งตลาดแต่เกิดเหตุโจรปล้น ทำให้นางแพ ผู้เป็นภรรยาถูกฆ่าตาย เหตุการณ์ครั้งนี้เองจึงทำให้นายบุญรอดได้สร้างหอดูโจรขึ้นที่ตลาดเก้าห้อง การก่อสร้างเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมจีน ภายในเจาะช่องไว้สำหรับใช้ปืนส่องออกมายิงโจรได้ ส่วนที่ชั้นบนเป็นป้อมให้ผู้ทำหน้าที่เวรยามคอยจับตาดูโจรที่จะเข้ามาปล้น ซึ่งนับจากนั้นไม่เคยมีโจรเข้าปล้นที่ตลาดเก้าห้องอีกเลย เมื่อเสร็จสิ้นจากงานศพของภรรยาแล้ว นายบุญรอดได้ตั้งตลาด จัดระบบการค้าในตลาด โดยตัวเองทำการค้าใหญ่ ๆ ส่วนปลีกย่อยให้ผู้ค้ารายอื่น ๆ ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าตลาดนี้ว่าเก้าห้องนั้น เรียกตามชื่อเรือนไม้แถวที่มีเก้าห้องที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับตลาด ซึ่งเป็นเรือนของ ขุนกำแหงฤทธิ์ ที่อพยพเรือนลาวหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านเก้าห้องของขุนกำแหงฤทธิ์เป็นศูนย์กลางการปกครองของพื้นที่ ตัวของขุนกำแหงฤทธิ์ทำหน้าที่เหมือนกำนันของหมู่บ้านรวมถึงเก็บส่วยส่งหลวง ที่ตลาดเก้าห้องนี้มีความเจริญรุ่งเรืองเต็มที่ในราวปี พ.ศ. 2575 – 2490 โดยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าเมืองสุพรรณบุรี หรือไปกรุงเทพฯ จะเดินทางด้วยม้า หรือเกวียน แล้วมาลงเรือที่ท่าเรือเมล์ที่ตลาด เก้าห้อง นอกจากนี้ยังมีมีเรือโดยสารแล่นผ่านมาเพื่อติดต่อซื้อขายสินค้ากับจังหวัดใกล้เคียง พ่อค้าคนจีนจะนำสินค้าจำพวกเป็ด ไก่ พืช ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล บรรทุกเรือโดยสารนำไปขาย ขากลับจะซื้อสินค้าจากกรุงเทพฯจำพวกเสื้อผ้า อาหารแห้ง ของใช้ในครัวเรือน เครื่องไฟฟ้าต่างๆ มาขาย
ที่ตลาดเก้าห้องนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ตลาดบน ตลาดกลาง และตลาดล่าง
ตลาดบน อยู่ทางด้านทิศเหนือของตัวตลาดเก้าห้อง เป็นที่ขายขนมจันอับ ขนมเปี๊ยะ ที่ยังมีขายอยู่จนถึงปัจจุบัน ตลาดกลางขายสินค้าประเภทโชวห่วย ส่วนตลาดล่างส่วนใหญ่จะขายอาหาร ขายยา และรับทอง ซึ่งตัวบ่งชี้หนึ่งที่ทำให้เห็นภาพของความเจริญรุ่งเรืองของตลาดเก้าห้องในอดีต คือ การที่มีร้านรับทำทองรูปพรรณถึง 4 ร้าน
สินค้าที่ขายอยู่ที่ตลาดเก้าห้อง มีหลากหลาย ทั้งที่เป็นสินค้าในท้องถิ่น และสินค้านำเข้าจากที่อื่น ซึ่งถ้าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ประเภท พริก กะปิ หอม กระเทียม มะพร้าว จะมีพ่อค้านำใส่เรือมาส่ง ส่วนพวกเสื้อผ้า สบู่ ยาสีฟัน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนหนึ่งสั่งจากตลาดสุพรรณ ฯ และอีกส่วนหนึ่งสั่งจากกรุงเทพ ฯ โดยการนำส่งสินค้าจะใช้การขนส่งทางน้ำ
สำหรับสินค้าที่สามารถผลิตได้เองในตลาดเก้าห้องและใกล้เคียง นอกจากเป็นพวกอาหารแล้ว จะมีกับข้าวสด จำพวกพืชผัก ที่ชาวบ้านปลูกแล้วนำมาขาย และเนื่องจากตลาดเก้าห้องถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ที่นี่ จึงมีชาวนานำข้าวเปลือกบรรทุกเกวียนมาขาย หรือบางครั้งนำมาแลกกับเกลือ หรือมะพร้าว จึงทำให้ตลาดเก้าห้องมีความคึกคัก
ลูกค้าของตลาดเก้าห้องมาจากหมู่บ้านรอบ ๆ บ้านเก้าห้องเช่น หมู่บ้านโพธิ์ศรี บ้านโพธิ์ตะควน บ้านวัดโบสถ์ และบ้านตะลุ่ม
การค้าขายที่ตลาดเก้าห้องนี้ ไม่มีระบบ หรือกฎเกณฑ์ใดๆ ลักษณะของการทำการค้าภายในตลาดเป็นแบบพึ่งพาอาศัยกัน ขายโดยเอากำไรไม่มาก ต่อรองราคากันได้

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่

ชื่อโครงการวิจัย การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่
ที่เป็นผลจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว
The Study of Livelihood Change of Karen People at
Ta-Pern-Kee Village Resulting from Tourism Promotion.

โดย เกษรา ศรีวิเชียร
ทำการวิจัยเสร็จเรียบร้อย พ.ศ. 2549



บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ในจังหวัดสุพรรณบุรี และ 2 ) ศึกษาความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ ที่มีผลมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลง 3 ด้านคือด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านประเพณีและความเชื่อ สัมภาษณ์ผู้นำชุมชนและประชาชนในหมู่บ้านตะเพินคี่ แล้วนำคำสัมภาษณ์มาทำการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ เป็นไปอย่างเรียบง่ายการประพฤติปฏิบัติ ดำเนินไปภายใต้ข้อห้ามของหมู่บ้าน ได้แก่ การห้ามดื่มเหล้า ในหมู่บ้านห้ามเสพยาเสพติด ห้ามเล่นการพนัน และห้ามเลี้ยงเป็ดไก่ เพื่อฆ่ากัน อาชีพหลักคือ การทำการเกษตรกรรม ได้แก่ การปลูกข้าวไร่ และพืชไร่อื่น ๆ เช่น ข้าวโพด เผือก มัน
2. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านเพินคี่ ที่เป็นผลมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวพบว่า ทั้ง 3 ด้าน มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก


Abstract
This research was conducted to serve 2 purposes: 1) to study livelihood of Karen people at Ta- Pern -Kee village in Supanburi and 2) to study livelihood change of Karen people at Ta- Pern -Kee village resulting from tourism promotion, focused on 3 aspects as follows: economic aspect, social aspect, and custom and belief aspect. The research was done by interviewing log village leaders and Karen people at Ta- Pern -Kee village. A content analysis approach was introduced for analyzing the interview.
The findings unveil as follows:
1) The livelihood of Karen people at Ta- Pern -Kee Village were simply. Their behavior was restrained under the village taboo which were: no alcohol drinking, no drug, no gambling, and no breeding chicken and duck for kill. Their main occupation was agriculture: grain and other farm plants, such as corn, taro, and sweet potato.
2) The livelihood change of Karen people at Ta- Pern -Kee village resulting
from tourism promotion in all 3 aspects were slightly.

1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน โดยพื้นที่ตั้งของจังหวัดสุพรรณบุรี ปรากฏร่องรอยทางประวัติศาสตร์ว่า มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีตมาไม่น้อยกว่า 2,000 ปี เนื่องจากมีการขุดค้นพบ เครื่องมือหินขัด เครื่องมือโลหะ เตาดินเผา ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน เครื่องประดับโลหะต่าง ๆ รวมทั้งเศษภาชนะดินเผารูปทรงต่าง รวมทั้งมีการค้นพบลักษณะบ่งชี้ว่ามีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนต่าง ๆ ในสมัยโบราณกระจายอยู่ทั่วจังหวัดสุพรรณบุรีถึง 19 แห่ง[1]
ด้านพื้นที่ตั้งนั้น สุพรรณบุรีมีลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำ ทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้วิถีการดำรงชีวิตของคนสุพรรณบุรีแตกต่างกันออกไป ตามความเชื่อพื้นฐาน และค่านิยมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ของตน และมีพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องเป็นพลวัต
ประชากรในจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ประกอบด้วยประชากรที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มคนไทยเชื้อสายลาว ประกอบด้วย ลาวเวียง ลาวพวน ลาวครั่ง และลาวโซ่ง กลุ่มคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง กลุ่มคนไทยเชื้อสายละว้า กลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมร กลุ่มคนไทยเชื้อสายญวณ และกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน
ในความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของประชากรในจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น เฉพาะที่อำเภอด่านช้าง ซึ่งเป็นอำเภอชายแดนของจังหวัดเนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อ กับอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ ติดอำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี และทิศตะวันตก ติด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏว่า มีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือชาวเขา อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มชาวเขาที่มีประชากรมากที่สุด ได้แก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงโดยมีจำนวนประชากรที่เป็นชาวเขา จำแนกตามกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ดังนี้

ตารางที่ 1 แสดงจำนวนประชากรชาวเขาในเขตพื้นที่อำเภอด่านช้างจังหวัดสุพรรณบุรี[2]

ชื่อหมู่บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ ครัวเรือน ชาย หญิง เด็กชาย เด็กหญิง รวม

ต.องค์พระ
ม.1 ทุ่งมะกอก กะเหรี่ยง 23 45 49 28 39 161
ม.1 เขมรโรง กะเหรี่ยง 22 22 17 23 21 83
ต. วังยาว
ม.1 บ้านกล้วย กะเหรี่ยง 84 138 129 77 83 427
ม.2 ป่าผาก กะเหรี่ยง 40 47 52 41 47 187
ม.2 องค์พระ กะเหรี่ยง 7 7 9 6 4 26
ม.4 ละว้าวังควาย ละว้า 153 256 263 87 87 693
ม.5 ตะเพินคี่ กะเหรี่ยง 40 70 45 48 40 203
ม.6 ห้วยหินดำ กะเหรี่ยง 43 78 72 52 37 239
ม.7 ม่องฆะ ไทยพื้นราบ 105 126 139 35 39 33
ม.8 วังยาว2 กะเหรี่ยง 16 21 24 13 9 67
ต. ห้วยขมิ้น
ม.10 ละว้ากกเชียง ละว้า 90 164 124 29 30 347

ที่หมู่บ้านตะเพินคี่ หมู่ 5 ตำบลวังยาว เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ตั้งอยู่บนเขาสูง ชาวบ้านเกือบทั้งหมดเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง พื้นที่ของหมู่บ้านแห่งนี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจให้ติดตามหลายอย่าง[3] เช่น การที่ตั้งอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งเดียวของประเทศ และที่น่าสนใจในเชิงการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์อีกประการหนึ่งก็คือ ตะเพินคี่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย ที่เพิ่งประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้
ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยเช่นนี้เอง จึงทำให้ตะเพินคี่ถูกยกให้เป็นหมู่บ้านแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติเป็นเครื่องดึงดูดผู้คนให้ดั้นด้นเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวและช่วงงานประจำปีไหว้จุฬามณีหรืองาน บุญเดือนห้า ของหมู่บ้าน
ประเด็นที่น่าสนใจจึงมีว่า วัฒนธรรมของ ชุมชนกะเหรี่ยงที่ตะเพินคี่ที่เดิมระบบเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นหลัก พืชหลักที่ปลูก คือปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด ฟักทอง เผือก แต่เดิมดำรงชีวิตอย่างพออยู่ พอกิน ไม่เบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง มีจารีต ประเพณี เป็นข้อปฏิบัติ และข้อห้าม นั้น เมื่อมีการส่งเสริมให้หมู่บ้านตะเพินคี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว แล้ว วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงชุมชนตะเพินคี่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ ในจังหวัดสุพรรณบุรี
2. เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ ที่มีผลมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ประโยชน์ของการวิจัย
ได้ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ที่ไม่กระทบต่อค่านิยม ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
วิธีดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้รูปแบบการศึกษาเป็นรายกรณี (Case Study) มีวิธีการเก็บข้อมูล 2 วิธี คือ การศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์
การศึกษาเอกสาร ได้แก่ แนวคิด ทฤษฎี และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การสัมภาษณ์ โดยการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน และประชาชนในหมู่บ้านตะเพินคี่ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

ขอบเขตด้านเนื้อหา
การศึกษาครั้งนี้มุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ ใน 3 ด้าน คือ
1. การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ
2. การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม
3. การเปลี่ยนแปลงด้านประเพณี และความเชื่อ

ขอบเขตด้านพื้นที่
การวิจัยครั้งนี้ ศึกษาเฉพาะกรณี หมู่บ้านตะเพินคี่ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

ผลการวิจัย

1. วิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่
บ้านตะเพินคี่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 180 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอด่านช้าง ประมาณ 90 กิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือน 43 ครัวเรือน ประชากร 236 คน โดยประชากรเกือบทั้งหมดมีเชื้อชาติกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงตั้งชุมชนอยู่ ณ บริเวณนี้มาประมาณ 200 - 300 ปีมาแล้ว
การตั้งบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงจะตั้งรวมกลุ่มกันอยู่เป็นชุมชน แต่เดิมบ้านจะสร้างเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง ฝาและพื้น ทำด้วยไม้ไผ่สับฟาก หลังคามุงด้วยแฝก ต่อมาได้พัฒนาเป็นทำพื้นและฝาด้วยไม้กระดาน หลังคามุงด้วยสังกะสีหรือกระเบื้อง
ในหมู่บ้านตะเพินคี่ มีการปกครองที่เป็นแบบทางการ นั่นคือการปกครองส่วนท้องถิ่น มีตัวแทนคือผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และมีการปกครองที่มีลักษณะจำเพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นแบบไม่เป็นทางการ คือ ผู้เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำตามธรรมชาติ ที่เขาเรียกว่า “เจ้าวัด”
ชาวกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านตะเพินคี่ มีวิถีชีวิตที่แปลก แตกต่างจากกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่น ๆ กล่าวคือ ในหมู่บ้านตะเพินคี่ ถือเป็นหมู่บ้านปลอดอบายมุข เพราะมีข้อห้ามที่พวกเขาถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ห้ามดื่มเหล้า รวมถึงการนำเหล้าเข้ามาในหมู่บ้าน ทั้งนี้ไม่มีข้อยกเว้นให้กับนักท่องเที่ยวหรือชาวกะเหรี่ยงต่างถิ่นที่เข้าไปในหมู่บ้านตะเพินคี่ ไม่เสพยาเสพติดและไม่นำยาเสพติดเข้ามาในหมู่บ้าน และ ไม่เล่นการพนันในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังห้ามเลี้ยง เป็ด ไก่ ไว้ฆ่ากิน
การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงบ้านตะเพินคี่เด็กผู้หญิงและหญิงสาวพรหมจารีจะใส่เสื้อกระโปรงติดกันยาวถึงข้อเท้า คอวี ช่วงคอและชายกะโปรงจะปักเดินเส้นเป็นสีสันสดใส ส่วนใหญ่จะเป็นสีชมพู แดง แสด มีพู่ห้อย หญิงที่แต่งงานแล้วใส่เสื้อคอวีทรงกระสอบตัวสั้นแค่สะโพกสีแดง บานเย็น หรือสีอื่น ๆ มีพู่ห้อย นุ่งผ้าซิ่นยาวคลุมข้อเท้าสีสดใสเช่นเดียวกัน บางครั้งผู้หญิงจะมีผ้าโพกศรีษะ สำหรับผู้ชายจะใส่เสื้อสองแบบ คือเสื้อทรงกระสอบ คอวีคล้ายของผู้หญิง หรือใส่เสื้อเชิ้ต นุ่งโสร่ง ส่วนใหญ่จะเป็นลายตารางสีบานเย็นกับสีดำ
ลักษณะของครอบครัวจะเป็นระบบครอบครัวขยาย กล่าวคือ เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะต้องย้ายไปอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิง ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเขาสามารถที่จะสร้างฐานะด้วยตนเองก็จะแยกไปสร้างบ้านเรือนของตนเอง
ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านตะเพินคี่เป็นกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธ แต่มีความเชื่อในเรื่องผี เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โลกนี้และโลกหน้า โดยคำสอนหรือพิธีกรรมของพวกเขาทำ เพื่อความสบายในชาติหน้า ความเชื่อต่าง ๆ เหล่านี้ จะสะท้อนออกมาให้เห็นได้ในวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา เช่น การเลือกพื้นที่เพื่อทำไร่ การเลือกวันสำหรับเพาะปลูก หรือซื้อข้าวของเครื่องใช้ เป็นต้น
ประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้านตะเพินคี่ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นประเพณีที่รวบรวมชาวกะเหรี่ยงในแถบภาคตะวันตกไว้มากที่สุด คือประเพณีไหว้จุฬามณี หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ในวันนี้ ถือเป็นวันรวมญาติของชาวกะเหรี่ยง และเป็นวันที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ที่ลูก ๆ หลาน ๆ แสดงต่อบุพการี
2. การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะเพินคี่ ที่มีผลมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว
2.1 การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในระบบเศรษฐกิจของคนในชุมชน
2.1.1 รายได้จากการบริการที่พัก ชาวกะหรี่ยงที่หมู่บ้านตะเพินคี่ ไม่มีรายได้จากการเข้าไปพักค้างของนักท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนำเต็นท์ไปเอง
2.1.2 รายได้จากการค้าภายในชุมชน
ในหมู่บ้านตะเพินคี่ มีร้านค้าเล็ก ๆ 2 ร้าน ลูกค้าหลักของร้านค้าทั้ง 2 ร้าน คือ สมาชิกในชุมชน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเตรียมอาหารการกิน และของใช้ส่วนตัวไปเอง สำหรับของที่ระลึกจากฝีมือของชาวกะเหรี่ยง ประเภท ถุงย่าม เสื้อ ผ้าซิ่น และผ้าพันคอ ขายได้ไม่มากนัก เนื่องจาก เป็นงานฝีมือ จึงมีราคาค่อนข้างแพง และสินค้าไม่มีให้เลือกมากนัก ทั้งนี้ เพราะงานแต่ละชิ้นจะต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องทอเป็นลวดลายต่าง ๆ เสื้อบางตัวอาจต้องใช้เวลานานถึง 3-4 เดือน ประกอบกับมี ผู้ทอผ้าพื้นเมืองได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ รายได้หลักของชาวกะเหรี่ยงยังอยู่ที่การประกอบอาชีพเกษตรกรรมของหมู่บ้าน
2.2 การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมพบว่า พบการเปลี่ยนแปลงดังนี้
2.2.1 การแต่งกาย ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านตะเพินคี่ มีการปรับการแต่งกายเป็นแบบชาวไทยพื้นราบมากขึ้น ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจากการที่นักท่องเที่ยวนำเสื้อผ้าขึ้นไปบริจาคให้ แต่ในวันสำคัญตามประเพณีของกะเหรี่ยงพวกเขาจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า โดยเฉพาะพิธีไหว้เจดีย์ หรือบูชาจุฬามณี ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องแต่งกายด้วยชุดแต่งกายประจำเผ่าเท่านั้น
2.2.2 วัฒนธรรมการบริโภค ชาวกะเหรี่ยงที่ตะเพินคี่ ยังบริโภคข้าวกับอาหารพื้นเมืองเป็นอาหารหลัก แต่เริ่มมีการดื่มกาแฟในวัยผู้ใหญ่ และเด็ก ๆ นิยมรับประทานขนมกรุบกรอบมากขึ้น เพราะเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวมักจะนำติดมือไปด้วย
2.2.3 ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม ในหมู่บ้าน พบว่า มีขยะเป็นพวกถุงขนมกรุบกรอบ ซองผงซักฟอกอยู่พอสมควร พวกเขายอมรับว่าเกิดจากพวกเขาเอง นักท่องเที่ยวที่มาพักนั้น ส่วนใหญ่จะเก็บขยะกลับลงไปด้วย ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่นการบุกรุก ตัดไม้ทำลายป่า เพื่อจัดเป็นสถานที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยว ปรากฏว่ายัง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของตะเพินคี่นั้น นับว่าถูกคุกคามน้อยมาก เนื่องจากยังไม่มีการก่อสร้างที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว
3. การเปลี่ยนแปลงด้านประเพณี และความเชื่อ
ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านตะเพินคี่ ยังคงดำเนินพิธีกรรมตามความเชื่อของตนเอง ตามปกติ พิธีกรรมสำคัญ ได้แก่ พิธีไหว้จุฬามณีในวันขึ้นปีใหม่ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 พิธีค้ำต้นไทร เพื่อสะเดาะเคราะห์ หลังจากขึ้นปีใหม่ และงานบุญข้าวใหม่

อภิปรายผล
จากผลการวิจัย มีข้อสังเกต ดังนี้
การท่องเที่ยว ที่ดำเนินไปภายใต้บริบทของชุมชน ที่ปราศจากการเข้าไปแทรกแซงของหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชน โดยปล่อยให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการเอง น่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนไม่มากนัก หรือถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ดังที่ชุมชนกะเหรี่ยง ที่หมู่บ้านตะเพินคี่ ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีอิทธิพลอีกประการหนึ่งคือ ความยากลำบากในการเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านดังกล่าว ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่ยังมีน้อย เป็นตัวช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในหมู่บ้านตะเพินคี่
สำหรับการใช้พิธีกรรม หรือประเพณีสำคัญ ๆ มาประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว ตามที่นันทา เบญจศิลารักษ์ [4]เขียนไว้ในบทความ “การท่องเที่ยว ลูกกวาด หรือ ยาขมของคนดอย” ว่า ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่า ที่จะทำพิธีนี้หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณเดือนกันยายนของทุกปี แต่ขณะนี้ประเพณีดังกล่าวได้ถูกแปรเปลี่ยนมีความหมายเพียงการแสดงเต้นรำประกอบเพลง ประกอบการแสดงกายกรรมโล้ชิงช้า โดยชาวเขาเผ่าอาข่าเองบอกว่ารู้สึกแปลก ๆ และกลัวผิดผี แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับหมู่บ้านไปเสียแล้ว น่าจะเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่จะต้องตระหนักเป็นอันดับแรก น่าจะเป็นการสร้างจิตสำนึกของนักท่องเที่ยว ให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการประเมินผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวของตนเอง โดยเลือกที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสังคมและวัฒนธรรม โดยไม่ละเลยต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันการสูญเสียทางวัฒนธรรม โดยผ่านการให้ความรู้ในระบบการศึกษา
จากการสังเกต และพูดคุยกับชาวกะเหรี่ยงที่บ้านตะเพินคี่ ทำให้เกิดสมมติฐานใหม่ขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้ว หากจะมีการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่บ้านตะเพินคี่ น่าจะเป็นเพราะนโยบายด้านอื่น ๆ ของรัฐ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยง สามารถซื้อรถจักรยานยนต์ขับขี่ มีโทรทัศน์ดู โดยผ่านแผงโซล่าเซล ที่รัฐมาติดตั้งให้ เมื่อต้นปี 2549


ข้อเสนอแนะ
1. ควรมีการศึกษาว่า นโยบายด้านการพัฒนาของรัฐ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงหรือไม่ อย่างไร
2. หากภาครัฐจะมีการเข้าไปส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ควรจะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในการวางแผน และ การบริหารจัดการ
4. การกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดจิตสำนึกในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้นักท่องเที่ยวเข้าไปละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิต ประกอบพิธีกรรมของเจ้าของชุมชน
บรรณานุกรม

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. ชาวเขา . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. 2518.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี. 2542
นันทา เบญจศิลารักษ์ . การท่องเที่ยวลูกกวาดหรือยาขมของคนดอย. เอกสารระกอบการ
ประชุม เรื่อง “ ทิศทางศิลปและวัฒนธรรมไทย” วันที่ 16-17 สิงหาคม 2536.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ : ชาวเขาในไทย . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน. 2545.
พระมหาสุเทพ ผิวเผือด. ผลกระทบด้านสังคมและวัฒนธรรมของการท่องเที่ยวที่มีต่อวัด
และชุมชน ศึกษาเฉพาะกรณีวัดไผ่โรงวัว ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง
จังหวัดสุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์.2545.
ภูสวัสดิ์ สุขเลี้ยง. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม: กรณีศึกษาหมู่บ้านห้วยโป่ง
ผาลาด อำเภอเวียงป่าเป้าจังหวัดเชียงราย.วิทยานิพนธ์ ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2543
ยศ สันตสมบัติและคณะ. การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและ
การจัดการทรัพยากร.
รพีพรรณ ทองห่อ. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นผลมาจาก
การท่องเที่ยว : กรณีศึกษาจังหวัดน่าน . รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัย
รามคำแหง. 2545.
ศิริ ฮามสุโพธิ์ . สังคมวิทยาการท่องเที่ยว. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตว์.
2543
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ. ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง .
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร. 2519.
สุนทรี ศิลพิพัฒน์. ชาวเขาในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บริษัทวิคตอรี
เพาเวอร์พอยท์จำกัด. 2529.
http: // asia.geocities.com/uthaihill/webuthai 12.htm
http: //www.sac.or.th/database/ethnic/Karen.htm/


[1] พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น 2542 หน้า 29-30
[2] http://asia.geocities.com/uthaihill/webuthai12.htm ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2549
[3] วัชรินทร์ โสไกร หนังสือพิมพ์คนสุพรรณ ปีที่ 39 ฉบับที่ 1475 วันที่ 16 สิงหาคม 2539

[4] นันทา เบญจศิลารักษ์ : การท่องเที่ยวลูกกวาดหรือยาขมของคนดอย ในเอกสารการประชุมเรื่อง “ ทิศทางศิลปและวัฒนธรรมไทย” วันที่ 16-17 สิงหาคม 2536. หน้า 39