เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
สุพรรณบุรี, Thailand
ผู้หญิงอายุเยอะ น้ำหนักมาก รักแมว ชอบเที่ยวป่า ดูนก แต่ไม่ตกปลา เกิดที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี เป็นลูกคนแรกที่แม่ไปคลอดที่โรงพยาบาล โดยไม่ผ่านมือหมอตำแย เป็นคนสุพรรณฯ เลือดร้อย เรียนอนุบาลและป.1 ที่โรงเรียนอนุบาลเสริมศึกษา(ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว) ป.2-7 ที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ(ปัจจุบันคือโรงเรียนสุพรรณภูมิ ม.ศ.1-5 ที่โรงเรีงเรียนสงวนหญิง คบ.เอกเกษตรศาสตร์ จากวิทยาลัยครูพระนคร ศศบ. สารนิเทศาสตร์ จาก มสธ. กศม. การศึกษาผู้ใหญ่ จาก มศว. ปรด. จะจบหรือเปล่าไม่รู้ ที่ไหนยังไม่บอก เดี๋ยวจะทำสถาบันเสื่อมเสีย

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ตลาดชุมชนริมแม่น้ำท่าจีน : ตลาดเก้าห้อง

ตลาดเก้าห้อง
ตลาดเก้าห้องตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า ประกอบด้วยห้องแถวไม้ อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ไปทางทิศใต้ ประมาณ 8 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นของตลาดเก้าห้อง คือ เมื่อนายฮง หรือบุญรอด เหลียงพานิชย์ ผู้มีฝีมือด้านช่าง และการค้า ได้อพยพครอบครัวจากกรุงเทพฯมาตั้งหลักแหล่ง ณ บริเวณบ้านเก้าห้อง ประกอบอาชีพหาบเร่แลกข้าวเปลือกด้วยของ ต่อมาจึงได้ซื้อเรือสำปะนี 1 ลำ โดยให้นางแพ ผู้เป็นภรรยาขายของตามลำน้ำ ส่วนตัวนายฮวดหาบของขายทางบก ขายของได้สักระยะหนึ่งเห็นว่าเรือที่ซื้อมาชักคับแคบจึงได้สร้างเรือนแพขึ้น จอดอยู่หน้าบ้านเก้าห้อง ส่วนภรรยาแจวเรือแลกข้าวไปตามลำน้ำ ในยุคนั้น “แพเจ็กรอด” เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป สินค้าที่ขายดีมาก คือ เครื่องกองบวช อุปกรณ์การทำนา เครื่องอุปโภคบริโภค และเห็นว่าบริเวณติดกับวัดบ้านหมี่ น่าจะเป็นทำเลที่เหมาะสมในการก่อตั้งตลาด เนื่องจาก ในช่วงฤดูแล้งจะมีเกวียนมาลงท่าวราว 100- 200 เล่ม ในขณะเตรียมการตั้งตลาดแต่เกิดเหตุโจรปล้น ทำให้นางแพ ผู้เป็นภรรยาถูกฆ่าตาย เหตุการณ์ครั้งนี้เองจึงทำให้นายบุญรอดได้สร้างหอดูโจรขึ้นที่ตลาดเก้าห้อง การก่อสร้างเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมจีน ภายในเจาะช่องไว้สำหรับใช้ปืนส่องออกมายิงโจรได้ ส่วนที่ชั้นบนเป็นป้อมให้ผู้ทำหน้าที่เวรยามคอยจับตาดูโจรที่จะเข้ามาปล้น ซึ่งนับจากนั้นไม่เคยมีโจรเข้าปล้นที่ตลาดเก้าห้องอีกเลย เมื่อเสร็จสิ้นจากงานศพของภรรยาแล้ว นายบุญรอดได้ตั้งตลาด จัดระบบการค้าในตลาด โดยตัวเองทำการค้าใหญ่ ๆ ส่วนปลีกย่อยให้ผู้ค้ารายอื่น ๆ ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าตลาดนี้ว่าเก้าห้องนั้น เรียกตามชื่อเรือนไม้แถวที่มีเก้าห้องที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับตลาด ซึ่งเป็นเรือนของ ขุนกำแหงฤทธิ์ ที่อพยพเรือนลาวหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านเก้าห้องของขุนกำแหงฤทธิ์เป็นศูนย์กลางการปกครองของพื้นที่ ตัวของขุนกำแหงฤทธิ์ทำหน้าที่เหมือนกำนันของหมู่บ้านรวมถึงเก็บส่วยส่งหลวง ที่ตลาดเก้าห้องนี้มีความเจริญรุ่งเรืองเต็มที่ในราวปี พ.ศ. 2575 – 2490 โดยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าเมืองสุพรรณบุรี หรือไปกรุงเทพฯ จะเดินทางด้วยม้า หรือเกวียน แล้วมาลงเรือที่ท่าเรือเมล์ที่ตลาด เก้าห้อง นอกจากนี้ยังมีมีเรือโดยสารแล่นผ่านมาเพื่อติดต่อซื้อขายสินค้ากับจังหวัดใกล้เคียง พ่อค้าคนจีนจะนำสินค้าจำพวกเป็ด ไก่ พืช ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล บรรทุกเรือโดยสารนำไปขาย ขากลับจะซื้อสินค้าจากกรุงเทพฯจำพวกเสื้อผ้า อาหารแห้ง ของใช้ในครัวเรือน เครื่องไฟฟ้าต่างๆ มาขาย
ที่ตลาดเก้าห้องนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ตลาดบน ตลาดกลาง และตลาดล่าง
ตลาดบน อยู่ทางด้านทิศเหนือของตัวตลาดเก้าห้อง เป็นที่ขายขนมจันอับ ขนมเปี๊ยะ ที่ยังมีขายอยู่จนถึงปัจจุบัน ตลาดกลางขายสินค้าประเภทโชวห่วย ส่วนตลาดล่างส่วนใหญ่จะขายอาหาร ขายยา และรับทอง ซึ่งตัวบ่งชี้หนึ่งที่ทำให้เห็นภาพของความเจริญรุ่งเรืองของตลาดเก้าห้องในอดีต คือ การที่มีร้านรับทำทองรูปพรรณถึง 4 ร้าน
สินค้าที่ขายอยู่ที่ตลาดเก้าห้อง มีหลากหลาย ทั้งที่เป็นสินค้าในท้องถิ่น และสินค้านำเข้าจากที่อื่น ซึ่งถ้าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ประเภท พริก กะปิ หอม กระเทียม มะพร้าว จะมีพ่อค้านำใส่เรือมาส่ง ส่วนพวกเสื้อผ้า สบู่ ยาสีฟัน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนหนึ่งสั่งจากตลาดสุพรรณ ฯ และอีกส่วนหนึ่งสั่งจากกรุงเทพ ฯ โดยการนำส่งสินค้าจะใช้การขนส่งทางน้ำ
สำหรับสินค้าที่สามารถผลิตได้เองในตลาดเก้าห้องและใกล้เคียง นอกจากเป็นพวกอาหารแล้ว จะมีกับข้าวสด จำพวกพืชผัก ที่ชาวบ้านปลูกแล้วนำมาขาย และเนื่องจากตลาดเก้าห้องถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ที่นี่ จึงมีชาวนานำข้าวเปลือกบรรทุกเกวียนมาขาย หรือบางครั้งนำมาแลกกับเกลือ หรือมะพร้าว จึงทำให้ตลาดเก้าห้องมีความคึกคัก
ลูกค้าของตลาดเก้าห้องมาจากหมู่บ้านรอบ ๆ บ้านเก้าห้องเช่น หมู่บ้านโพธิ์ศรี บ้านโพธิ์ตะควน บ้านวัดโบสถ์ และบ้านตะลุ่ม
การค้าขายที่ตลาดเก้าห้องนี้ ไม่มีระบบ หรือกฎเกณฑ์ใดๆ ลักษณะของการทำการค้าภายในตลาดเป็นแบบพึ่งพาอาศัยกัน ขายโดยเอากำไรไม่มาก ต่อรองราคากันได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น