เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
สุพรรณบุรี, Thailand
ผู้หญิงอายุเยอะ น้ำหนักมาก รักแมว ชอบเที่ยวป่า ดูนก แต่ไม่ตกปลา เกิดที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี เป็นลูกคนแรกที่แม่ไปคลอดที่โรงพยาบาล โดยไม่ผ่านมือหมอตำแย เป็นคนสุพรรณฯ เลือดร้อย เรียนอนุบาลและป.1 ที่โรงเรียนอนุบาลเสริมศึกษา(ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว) ป.2-7 ที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ(ปัจจุบันคือโรงเรียนสุพรรณภูมิ ม.ศ.1-5 ที่โรงเรีงเรียนสงวนหญิง คบ.เอกเกษตรศาสตร์ จากวิทยาลัยครูพระนคร ศศบ. สารนิเทศาสตร์ จาก มสธ. กศม. การศึกษาผู้ใหญ่ จาก มศว. ปรด. จะจบหรือเปล่าไม่รู้ ที่ไหนยังไม่บอก เดี๋ยวจะทำสถาบันเสื่อมเสีย

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

“เปิดความคิดเยาวชนสู่สังคมจิตอาสา”




โครงการบูรณาการการสร้างเสริมสุขภาวะภาคกลาง“เปิดความคิดเยาวชนสู่สังคมจิตอาสา”จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลักการและความสำคัญ
การที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม มีประชากรแฝงจากการย้ายเข้ามาทำงาน โดยตามทะเบียนราษฎร์ประชากร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประมาณ 764,811 คน แต่จำนวนประชากรแฝงหรือประชากรพื้นที่อื่นที่เข้ามาอาศัยและทำงานมีมากถึง 5 แสนคน (http://milano3030.multiply.com/reviews/item/16)%20ความอบอุ่นในครอบครัว ที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพ่อ แม่ลูก เปลี่ยนไป เพราะพ่อ แม่ มีช่วงเวลาการทำงานไม่ตรงกัน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่มีโอกาสได้อยู่พร้อมหน้ากัน ลูกจึงมีเวลาที่จะอยู่กับสังคมนอกบ้านมากกว่าสังคมครอบครัว
จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรแฝง ที่ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรม เยาวชนที่เข้ามาศึกษาในสถานศึกษาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักอาศัยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงมีสาธารณูปโภคและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กระจายลงสู่ทุกพื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สภาวการณ์ดังกล่าวนี้ จึงทำให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเข้าถึงสื่อสังคมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นการดีหากเป็นสื่อสังคมให้แก่เยาวชนในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าด้านลบ ซึ่งสื่อสังคมด้านลบในปัจจุบันเริ่มมีอิทธิพลต่อเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ คลิปวีดีโออนาจาร ภาพนักเรียนตบตีกัน ภาพการใช้ความรุนแรงอื่นๆ จนทำให้เกิดค่านิยมที่ผิดในกลุ่มวัยรุ่น ได้แก่ การรวมกลุ่มแข่งจักรยานยนต์บนถนนทางหลวง การก่อคดีปาหินใส่รถยนต์ การก่อคดีลักขโมยและอาชญากรรมอื่นๆ
จากรายงานสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบประเด็นที่น่าสนใจ และสมควรให้ความสำคัญที่จะต้องร่วมกันหาทางป้องกัน แก้ไข หลายประการ ดังนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทำวิจัยสถานการณ์การเฝ้าระวังพฤติกรรมของเด็กไทย ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยศึกษาวิจัยปัญหาสังคมของเด็กวัยรุ่นใน 10 ประเด็น 54 ตัวชี้วัด โดยศึกษาจากเด็กและเยาวชนทั้ง 16 อำเภอ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอละ 360 ตัวอย่าง รวมทั้งจังหวัดคิดเป็น 5,706 คน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจข้อมูลพื้นฐานพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน รวมถึงการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม ตลอดจนวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของเด็กไทยโดยจำแนกลักษณะความรุนแรงของปัญหาในแต่ละพื้นที่ ผลการศึกษาข้อมูลเยาวชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่ามี 6 ประเด็น เข้าข่ายต้องเฝ้าระวัง ซึ่งผู้ปกครองต้องจับตามองและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ประกอบด้วย ความสนใจของนักเรียนพบว่ามีความสนใจด้านการศึกษาน้อยลง ด้านการใช้ความรุนแรงพบว่ามีมากขึ้นหลายเท่าตัว ด้านการดูแลสุขภาพพบว่าไม่มีการใส่ใจตัวเองเท่าใดนัก เช่น การหันมาทานอาหารขยะและน้ำอัดลมมากขึ้นและพบว่าเด็กให้เวลาในการออกกำลังกายน้อยลง ด้านความรักและความสัมพันธ์ทางเพศ พบว่า ในกลุ่มวัยรุ่นนิยมมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และด้านการใช้เวลาว่างส่วนใหญ่หมดไปกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์(http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=12281.0) ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของนักวิจัยโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 พบประเด็นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของเด็กและเยาวชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในหลายด้าน เช่น เด็กและเยาวชน มีพฤติกรรมในการบริโภคอาหารที่ทำลายสุขภาพ เช่น อาหารจานด่วน (fast food) ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม เช่น การคุยโทรศัพท์กับคนแปลกหน้า การแยกตัวจากครอบครัวมาอยู่คนเดียวหรืออยู่กับคนรักของกลุ่มวัยรุ่น การเที่ยวกลางคืน ดูการ์ตูน หนัง หรือ คลิปอนาจาร การเล่นพนัน ตลอดจนมีการใช้ยาเสพติด การพกพาอาวุธ การขู่กรรโชกทรัพย์ และทำร้ายร่างกายกันในสถานศึกษา ซึ่งปัญหาเหล่านี้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนหนึ่ง สามารถบริหารจัดการชีวิตของตัวเองให้มีความสุขอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปในแนวทางที่ไม่ดี ทั้งนี้ผู้เสนอโครงการเคยทดลองดำเนินการนำนักศึกษาและผู้มีจิตอาสาไปร่วมทำกิจกรรมด้านจิตอาสา จำนวน ครั้ง 2 คือ ครั้งที่ 1 นำผู้มีจิตอาสาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ไปร่วมกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อุทยานแห่งชาติไทยประจัน จังหวัดราชบุรี และครั้งที่ 2 ไปจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติที่โรงเรียนบ้านกกตาด อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ผลจากการจัดกิจกรรมทั้ง 2 ครั้ง เยาวชนที่ไปร่วมกิจกรรม สะท้อนความเห็นและความรู้สึกว่าพวกเขามีความสุขที่มีโอกาสได้ร่วมทำกิจกรรมกับคนอื่นๆ และรับรู้ว่าการทำความดีไม่ใช่สิ่งยาก เพียงแต่บางครั้งเขาขาดพื้นที่แสดงออก และผู้ใหญ่ใจดีที่จะชักชวนเข้าทำกิจกรรมดี ๆ
หากพิจารณาศักยภาพด้านพื้นที่ตั้งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะพบว่ามีจุดเด่นอยู่ที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร การเดินทางไปมาสะดวก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่พระนครศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก แต่จากจุดเด่นดังกล่าว กลับส่งผลให้ ปัจจุบันต้องพบปัญหาเสี่ยงต่อการถูกถอดถอน เนื่องจากบริเวณพื้นที่มรดกโลกมีการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม มีการบุกรุกของชุมชน (นางโสมสุดา ลียะวณิช รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม: เดลินิวส์ วันจันทร์ ที่ 30 พฤศจิกายน 2552) จากการประชุมเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยของเครือข่ายวิจัยเครือข่ายอุดมศึกษาภาคกลางตอนบน ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 ที่ประชุมสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับมรดกโลกของพระนครศรีอยุธยาว่า คนในพื้นที่ให้ความสนใจกับการเป็นมรดกโลกในเชิงพาณิชย์ ไม่ได้ให้ความสำคัญเชิงอนุรักษ์และละเลยคุณค่าของความเป็นมรดกโลก สำหรับการบริหารจัดการในพื้นที่มรดกโลกนั้น มีความทับซ้อนอย่างมากในด้านระเบียบ กฎหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ปัจจุบัน ได้มีการกล่าวถึงแนวคิด “จิตอาสา” กันมากขึ้น จนถึงกับกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติการให้และอาสาช่วยเหลือสังคม เป็นการร่วมมือกันรณรงค์ส่งเสริม " จิตอาสา "ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นการปลุกน้ำใจคนไทยให้งอกงามกลับมาอีกครั้งหนึ่ง มาช่วยกันดูแลสังคมไทยร่วมกัน ดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน ตลอดจนปัญหาต่างๆรอบๆตัว อย่างน้อย มองออกมานอกกรอบของเรื่องตัวเอง ออกมาดูคนอื่น เห็นใจ เข้าใจคนอื่นกันมากขึ้น ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดี ทำดีให้เป็นรูปธรรมกันมากขึ้นในสังคมไทย มิใช่เพียงแต่วิจารณ์ ต่อว่าใครหรือคนกลุ่มใด ผู้เสนอโครงการจึงได้ศึกษา ทำความเข้าใจเบื้องต้น เกี่ยวกับคำว่า “จิตอาสา” พบว่า จิตอาสา เป็นการให้โดยสละตัวตนของเราออกไปด้วยการทำงานช่วยเหลือให้บริการผู้อื่นจากใจในขณะที่ขัดเกลาจิตใจตัวเองกันไปด้วย เป็นจิตอาสาที่จะทำให้สังคมและผู้อื่นมีความสุข ผู้รับเองก็เป็นผู้ให้ไปในตัว อย่างน้อยก็เป็นผู้ทำให้ผู้ให้ได้ให้และมีความปลื้มปิติที่ได้ทำสิ่งดีดี จิตอาสา คือจิตที่ต้องการให้ผู้อื่น ตั้งแต่การให้เงิน ให้ของ จนกระทั่งให้แรงงานแรงสมองหรือที่เรามักเรียกว่า อาสาสมัคร เพื่อช่วยให้ผู้อื่นหรือสังคมมีความสุขมากขึ้น การให้หรือเสียสละนี้สามารถทำไปได้จนถึงการเสียสละความเป็นตัวตนหรืออัตตาของเรา ลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ พระไพศาล วิสาโล ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ จิตอาสา ” ไว้ในหนังสือ เมื่อดอกไม้บานสะพรั่งทั้งแผ่นดินว่า “จิตอาสาคือจิตที่พร้อมจะสละเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดายเมื่อพบเห็นปัญหาหรือความทุกข์ยากเกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดีและเห็นน้ำตาเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย “บุญ” คือความสงบเย็นและพลังแห่งความดี” (http://www.vachiraphuket.go.th/%20www/%20volunteer%20/?%20name=knowledge&file=readknowledge&id=4, http://www.kanlayanatam.com/sara%20/sara%20142.htm , http://writer.dek-d.com/nana_devil/story/view.php?id=514436)
จากการพิจารณาสภาวการณ์ปัจจุบันของสังคมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “จิตอาสา” ผู้เสนอโครงการ มีความเชื่อว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านสังคม ปัญหาด้านความเสี่ยงในการที่จะถูกถอดพื้นที่ออกจากการเป็นมรดกโลก วิธีการหนึ่งคือ การเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ได้ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น อันจะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้เห็นคุณค่าของตนเอง เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีน(จิตอาสา)ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อลดความเสี่ยงในการก้าวสู่สังคมของเด็กมีปัญหา ทั้งนี้ การสร้างพื้นที่สีขาว ถือเป็นช่องทางในการแสดงออกในเรื่องดีๆ เป็นทางเลือกให้กับเด็กและเยาวชนในอยุธยา และท้ายที่สุด พลังของเด็กและเยาวชนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้น จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญในสังคม ที่จะมีส่วนเข้าแก้ไขปัญหาสังคมโดยเฉพาะปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้น นำสังคมก้าวไปสู่สังคมสุขภาวะได้ในอนาคตโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม และมีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยใช้ศักยภาพของความเป็นวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เปิดสอนในหลากหลายสาขาวิชา ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

วัตถุประสงค์
1). เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรที่ทำงานในเรื่องเด็กและเยาวชน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2). เพื่อให้เกิด “พื้นที่สีขาว” ซึ่งจะเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรม หรือช่องทางในการแสดงออกถึงจิตอาสาที่มีอยู่ในเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3). เพื่อให้เกิดเครือข่ายการทำงาน “เด็กและเยาวชนจิตอาสารุ่นที่๑” ซึ่งเป็นแกนนำในการทำงานเชิงบวกในเรื่องของเด็กและเยาวชน และเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวสู่สังคมสุขภาวะต่อไป


กรอบแนวคิดการทำงาน








ขอบเขตการทำงาน


มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นสถาบันการศึกษาหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากการที่ผู้วิจัยเองทำงานอยู่ในสำนักงานผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ของมหาวิทยาลัยดังกล่าว มีประสบการณ์ทำงานวิจัยร่วมกับองค์กรเครือข่ายต่างๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การทำงานที่ผ่านมา สังเกตเห็นว่า มีองค์กรเครือข่ายที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนหลายองค์กร เช่น โครงการ Child Watch โครงการต้นทุนชีวิตเด็ก โครงการบ้านหลังเลิกเรียน (นโยบายผู้ว่าราชการจังหวัด) ดำเนินการโดยสมัชชาสุขภาพจังหวัด และหน่วยงานราชการในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งองค์กรเครือข่ายเหล่านี้ มีประสบการณ์เรื่องการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่พร้อมทั้งองค์ความรู้ต่างๆที่ค้นพบ นับเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการจัดกระบวนทัพการทำงานในโครงการ “เปิดความคิดเยาวชน สู่สังคมจิตอาสา” เพื่อสานพลัง ภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยการเนรมิตพื้นที่สีขาว ให้กับเด็กและเยาวชน เข้ามาร่วมกันเรียนรู้เรื่องจิตอาสา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชน นำไปสู่การลดทอนปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้ไม่มากก็น้อย
บทบาทหน้าที่ของทีมวิจัยชุดนี้ เปรียบเสมือน “เชือกที่คอยร้อยเรียงภาคีเครือข่ายที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมกันสรรค์สร้างพื้นที่สีขาว เพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้อาศัยพื้นที่สีขาวนี้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และที่สำคัญ เป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเอง” ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่ดังกล่าว จะสะท้อนผ่านกลไกการทำงานดังนี้


1. การค้นหาเครือข่ายการทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยการประชุมกลุ่มย่อย พบปะ พูดคุย ชักชวน และทำความเข้าใจการทำงานเบื้องต้นร่วมกัน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งผ่านข้อมูลต่างๆ ของแต่ละภาคีเครือข่าย จะมีการประชุมกลุ่มย่อยจำนวน 10 ครั้ง ในระหว่าง เดือนกันยายน 53 – เดือนพฤศจิกายน 53
2. การบูรณาการระหว่างภาคีเครือข่ายที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนพื้นที่ โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (workshop) จำนวน 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ทบทวนสถานการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน และเลือกสรร ประเด็นการทำงานที่น่าสนใจร่วมกัน ภายใต้กรอบการทำงานเรื่องจิตอาสาร่วมกัน และระดมความคิดเห็นในประเด็น “พื้นที่สีขาว ภูมิคุ้มกันที่สร้างได้” เป็นการออกแบบกระบวนการทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างและส่งเสริมกระบวนคิดเรื่องจิตอาสาโดยจัดขึ้นในช่วงเดือน ธันวาคม 53 ผู้เข้ร่วมประมาณ 50 คน
ครั้งที่ 2 นำเสนอโครงการจิตอาสา พร้อมทั้งคัดเลือกโครงการ 5 โครงการ โดยจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 54 โดยผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน
3. ปฏิบัติการสรรค์สร้างจิตอาสา ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 2 ภายใต้ประเด็นการทำงานที่ตกลงร่วมกันในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 1 โดยจะดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 54 –สิงหาคม 54
โดยมีตัวอย่างกิจกรรมที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ได้แก่
1. อาสาสมัครโครงการ “ศิลปกรรมเก่า เล่าเรื่อง” เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กและเยาวชนเข้าร่วมศึกษาเรียนรู้ เมืองเก่า ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร จากปราชญ์ชุมชน และให้ผู้เข้าร่วม สะท้อนความคิดเห็น ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่นวาดภาพ แสดงละคร แต่งกลอน แต่งเพลง หรือ เขียนบทความ เป็นต้น เปรียบเทียบกันระหว่างเมืองเก่าในอดีต และเมืองอยุธยาในปัจจุบัน กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นจิตใต้สำนึกของเด็กและเยาวชนในเรื่องอยุธยาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และกระตุ้นให้เด็กรักและหวงแหนเมืองเก่าให้อยู่คู่เมืองอยุธยาตลอดไป
2. อาสาสมัครโครงการ “มรดกโลก ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของมรดกโลก โดยใช้สัมผัสทั้งห้าในการรับรู้สิ่งรอบตัว ที่สำคัญการรับรู้ทุกขณะต้องใช้สติ และหัวใจในการรับรู้ต่างๆ และให้เด็กจิตสัมผัสทั้งหมดที่รู้สึก ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น วาดภาพ แสดงละคร แต่งกลอน แต่งเพลง หรือ เขียนบทความ เป็นต้น และช่วยกันทำความสะอาด และพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้า เพื่อรับทราบเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องการปรับภูมิทัศน์ ที่ก่อเป็นความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน และถกแถลงร่วมกัน กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่สร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้เห็นคุณค่าของมรดกโลก ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์มรดกโลกต่อไป
3. อาสาสมัครโครงการ “ล่องเรือ ทำความดี” เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรอบเกาะในเมืองอยุธยานั้น มีร้านอาหารริมคลองมากมาย ซึ่งแต่ละร้านก็อาศัยแม่คงคา ในการทิ้งของเสีย ถึงแม้ว่าแม่น้ำในคูเมืองเก่า จะไม่เน่า เนื่องจากน้ำไหลตลอดเวลา แต่ก็ไม่สะอาด ที่สำคัญ ปัจจุบันยังมีการใช้การคมนาคมขนส่งทางเรืออยู่มาก ในอยุธยา โดยเฉพาะเพื่อการท่องเที่ยว ดังนั้น กิจกรรมนี้จะพาเด็กและเยาวชน ล่องเรือ และมีผู้ใหญ่ เล่าขานตำนานเมืองเก่า ที่เชื่อมโยงข่ายใยโดยใช้แม่น้ำลำคลองเป็นหลัก และแวะพูดคุยกับร้านอาหารต่างๆที่อยู่ริมคลอง และให้ผู้เข้าร่วมสะท้อนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น วาดภาพ แสดงละคร แต่งกลอน แต่งเพลง หรือ เขียนบทความ เป็นต้น กิจกรรมนี้ จะสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป

4. เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการและภาคีเครือข่าย ร่วมกันถอดบทเรียนการทำงานผ่านกิจกรรมต่างๆ จะดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน 54 – พฤศจิกายน 54
5. จัดมหกรรม ”พื้นที่สีขาว ภูมิคุ้มกัน สรรค์สร้างสังคมสุขภาวะ” เป็นการรวบรวมและแสดงผลงานจากการทำกิจกรรมต่างๆที่ผ่านมา และเป็นเวทีเสวนารวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนทั้งเชิงรับและเชิงรุก โดยจะจัดในช่วงเดือนธันวาคม 54


พื้นที่ในการดำเนินการ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ระยะเวลาในการดำเนินงาน
ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 – เดือนมีนาคม 2555 รวมระยะเวลาในการดำเนินการทั้งหมด 18 เดือน


ผู้รับผิดชอบดำเนินการ


1). นางสาวเกษรา ศรีวิชียร
ตำแหน่ง หัวหน้าสำนักงานผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ถนนปรีดีพนมยงค์ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13000 โทรศัพท์ 035322076 – 9 ต่อ 2715 หรือ 035322082
ประสบการณ์การทำงาน
พ.ศ. 2547 – 2552 ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. 2546-2547 ช่วยราชการทำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ , กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พ.ศ. 2544 – 2546 ตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอกิ่งอำเภอสามร้อยยอดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ประสบการณ์การทำงานด้านอาสาสมัคร
อาสาสมัครโครงการปลูกป่าสร้างฝาย ของรายการคนละไม้คนละมือ
อาสาสมัครโครงการอาสาสร้างกุฏิ ของรายการคนละไม้คนละมือ
หัวหน้าโครงการสร้างฝายชะลอน้ำ “ผลิช่อและหน่ออ่อนของการทำความดี”
หัวหน้าโครงการผลิช่อและหน่ออ่อนการทำความดี โครงการ 2 “แบ่งสุขให้น้อง”ฯลฯ

2). นางสาวฤดี เสริมชยุต
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัย ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ถนนปรีดีพนมยงค์ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13000 โทรศัพท์ 035322076 – 9 ต่อ 2715 หรือ 035322082
ประสบการณ์การทำงานด้านอาสาสมัคร
อาสาสมัครโครงการอาสาสร้างกุฏิ ของรายการคนละไม้คนละมือ
อาสาสมัครโครงการผลิช่อและหน่ออ่อนการทำความดี โครงการ 2 “แบ่งสุขให้น้อง”ฯลฯ

3). นางสารภี พูลศิริ
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ถนนปรีดีพนมยงค์ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13000 โทรศัพท์ 035322076 – 9 ต่อ 2601


ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ (out put)
1). เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 5 กิจกรรม ไม่น้อยกว่า 300 คน และไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด เป็นแกนนำและเครือข่ายการทำงานในประเด็นเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่อไป
2). ผลักดันแนวทางการทำงานเรื่องเด็กและเยาวชน ในมุมมองของเด็กและเยาวชน ผ่านสภาเด็ก ที่มีการเชื่อมประสานกับสภาเด็กในจังหวัดใกล้เคียง เช่น เด็กในโครงการนครปฐมโมเดล จังหวัดนครปฐม และ สภาเด็ก ของจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น เข้าสู่แผนการทำงานของหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น องค์กรพัฒนาสังคมจังหวัด เครือข่ายเด็กและเยาวชนอื่นๆ เป็นต้น
3). สามารถดำเนินกิจกรรมในกลุ่ม “เยาวชนจิตอาสา” อย่างต่อเนื่อง โดยองค์กรภาคีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหน่วยเสริมหนุนการทำงาน และเป็นพี่เลี้ยงต่อไป

ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับ (outcome)
1). เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน หนุนเสริม การทำงานซึ่งกันและกัน ระหว่างองค์กรเครือข่ายที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2). เกิดการสานพลังระหว่างภาคีเครือข่าย ในการทำงานก้าวต่อไปในประเด็น จิตอาสา ซึ่งเป็นการทำงานเชิงบวก และเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกบเด็กและเยาวชนในพื้นที่
3). เกิดการพลิกฟื้นคุณค่าและสร้างคุณค่าใหม่ โดยเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะเกิดความภาคภูมิใจและสะท้อนความภาคภูมิใจนี้ผ่านการแสดงความคิดเห็น และการเข้าร่วมกิจกรรม อย่างต่อเนื่อง และสามารถพัฒนาตนเองก้าวเข้ามาเป็นแกนนำเยาวชนจิตอาสารุนที่ ๑ อย่างภาคภูมิใจ

ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ


เครือข่ายจิตอาสาสำหรับเยาวชน โดยสามารถระดมเยาวชนเข้าร่วมปฏิบัติการจิตอาสาไม่ต่ำกว่า 300 คน โดยปฏิบัติการดังกล่าวนำไปสู่แรงบันดาลใจให้เยาวชนสามารถพัฒนานวัตกรรมจิตอาสาที่เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 10 ผลงาน