เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
สุพรรณบุรี, Thailand
ผู้หญิงอายุเยอะ น้ำหนักมาก รักแมว ชอบเที่ยวป่า ดูนก แต่ไม่ตกปลา เกิดที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี เป็นลูกคนแรกที่แม่ไปคลอดที่โรงพยาบาล โดยไม่ผ่านมือหมอตำแย เป็นคนสุพรรณฯ เลือดร้อย เรียนอนุบาลและป.1 ที่โรงเรียนอนุบาลเสริมศึกษา(ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว) ป.2-7 ที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ(ปัจจุบันคือโรงเรียนสุพรรณภูมิ ม.ศ.1-5 ที่โรงเรีงเรียนสงวนหญิง คบ.เอกเกษตรศาสตร์ จากวิทยาลัยครูพระนคร ศศบ. สารนิเทศาสตร์ จาก มสธ. กศม. การศึกษาผู้ใหญ่ จาก มศว. ปรด. จะจบหรือเปล่าไม่รู้ ที่ไหนยังไม่บอก เดี๋ยวจะทำสถาบันเสื่อมเสีย

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คิดถึงออกพรรษาเมื่อครั้งยังเยาว์ กับประเพณีขอทานขนมห่อ

คิดถึงออกพรรษาเมื่อครั้งยังเยาว์

วันนี้ 23 ตุลาคม 2554 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ไปไหนไม่ได้ เพราะบ้านที่สุพรรณ ฯ น้ำท่วม ทางบ้านไม่ให้กลับ ในขณะเดียวกัน ที่บริเวณเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งมาอาศัยในเวลาทำงาน ก็เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมเช่นกัน

การสอบถามข่าวคราวน้ำท่วมกับทางบ้านใช้เพียงโทรศัพท์ ตอนเช้าหุงข้าว ตุ๋นไก่ ไปใส่บาตร แล้วขับรถตระเวณดูระดับน้ำรอบ ๆ เกาะเมือง แล้วออกไปอีกรอบ ตอนช่วงบ่าย เฮ้อ! จะรอดไหมเนี่ย

ออกพรรษาอย่างนี้ น้ำหลากอย่างนี้ ทำให้ความคิดแวบไปถึงเทศกาลออกพรรษาในวัยเยาว์ ความจริงฉันเป็นคนที่จำเรื่องในวัยเด็กได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับน้อง ๆ หากในวงสนทนาของครอบครัว มีการพูดถึงความหลังครั้งเยาว์วัย ดูเหมือนฉันจะเป็นคนเดียวที่ไม่ค่อยมีเรื่องเล่า จะทำหน้าที่เป็นผู้ฟัง แต่เทศกาลออกพรรษา กับประเพณีขอทานขนมห่อ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่อยู่ในความทรงจำแม้จะขาดรายละเอียดไปบ้างก็ตาม

ก่อนถึงวันออกพรรษา แม่จะเตรียมอาหาร และทำขนม เช่น ข้าวต้มมัด ที่บางคนเรียกว่าข้าวต้มผัด ขนมเทียน หรือที่บ้านเรียกขนมห่อ เพื่อเตรียมไปตักบาตรเทโว ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 บางปีที่น้ำมากพระสงฆ์ท่านไม่สามารถจะเดินรับบาตรจากกุฏิที่มีชาวบ้านตั้งแถวรอใส่บาตรเป็นแถวยาวถึงศาลาการเปรียญได้ ก็จะตักบาตรกันรอบ ๆ หอสวดมนต์

ในคืนวันก่อนออกพรรษา คืนวันออกพรรษา และยาวไปถึงหลังออกพรรษา 1 คืน ในแม่น้ำท่าจีน จะมีเรือแปะ ที่บรรทุกหนุ่ม ๆ มาลำละ หลายๆ คน พากันปรบมือ ตีกลอง ตีฉิ่ง ตีฉาบ แล้วจะจะหาเครื่องดนตรีชนิดไหนได้ ที่ไม่หนักและเกะกะ ร้องเพลงกันมา เมื่อครั้งยังเด็กมาก ๆ จะมีคืนละหลาย ๆ ลำ พายมาเทียบชานบ้าน หรือหน้าบ้าน ที่อยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งถ้าปีใดน้ำมาก สามารถพายเรือเทียบนอกชานได้เลยทีเดียวเพื่อขอขนมห่อ หรือข้าต้มมัด จากแต่ละบ้าน บ้านไหนมีลูกสาว ก็มักจะมีเรือขอทานขนมห่อแวะมาหลายลำ

จำได้ว่าในคืนอย่างนี้ พ่อ แม่ และลูก ๆ มักจะนั่งชมจันทร์ที่นอกชานบ้าน ฟังเพลงจากเรือขอทาน ฟังนิทานจากพ่อและแม่ ที่บ้านมีเรือขอทานแวะเวียนมาหลายลำเหมือนกันเพราะมีลูกสาว 3 สาว เพียงแต่สาวที่3 อย่างฉันยังเด็กมากเหลือเกิน

พ่อจะมีลูกเล่นกับพวกขอทานอยู่บ่อย ๆ เช่นทำทีเหมือนถือชามไป แต่ขอเช็คดูในปี๊บใส่ขนมของหนุ่มขอทาน ว่าขอดูซิได้ขนมเยอะไหม จากนั้นก็จะล้วงเอาขนมของพวกขอทานออกมาใส่ชามที่ถือไป บอกว่าพอดีบ้านลุงไม่ได้ทำขนมขอแบ่งมาบ้างแล้วกัน ก็จะเรียกเสียงหัวเราะจากบรรดาหนุ่มขอทานได้ บรรดาหนุ่ม ๆ ขอทานเหล่านี้จะมีการสวมหมวก โพกผ้า หรือปิดหน้าเพื่ออำพรางใบหน้า แต่ส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าเป็นใคร เนื่องจากมักเป็นผู้คุ้นเคยกันอยู่แล้ว และเป็นช่วงที่เดือนหงาย ก็จะสามารถมองเห็นใบหน้ากันได้ค่อนข้างชัดเจนบางทีพี่ชาย ที่เป็นหนุ่มแล้วก็ไปเป็นขอทานกับเขาด้วย

ขอทานขอขนมห่อนี้ หายไปน่าจะราว ๆ เมื่อฉันอายุได้สัก 14 - 15 ปี เคยถามผู้อาวุโสในแถบลุ่มน้ำ ๆ ทางอยุธยา ป่าโมก ก็ไม่มีใครรู้จักประเพณีนี้ น่าเสียดายที่ฉันจำรายละเอียดได้น้อยมากๆ คนเก่าคนแก่ ก็ทยอยล้มหายตายจากไปเกือบหมด แต่หากสามารถหารายละเอียดได้มากกว่านี้ จะเพิ่มเติมให้ในโอกาสต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น